หลังยุบอนาคตใหม่

ในที่สุด พรรค “อนาคตใหม่” ก็ต้องถูกยุบ ขณะที่กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ตามการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นอ่านปรากฏการณ์ดังกล่าวในฐานะ “เกมการเมือง” (การดำรงอยู่หรือไม่อยู่ของพรรคการเมืองหนึ่งส่งผลอย่างไรต่อการต่อสู้หรือดุลอำนาจทางการเมือง) มากกว่าจะมองมันผ่านแง่มุมทางกฎหมาย (ประเด็น “คดีกู้เงิน”)

ด้วยเหตุนี้ การยุบพรรคอนาคตใหม่จึงกลายเป็น “เรื่องการเมือง” ในความเข้าใจของผู้คนจำนวนมากไปโดยปริยาย

คำถามต่อเนื่องก็คือพรรคอนาคตใหม่นั้นมีอันตรายต่อสังคมการเมืองไทยขนาดไหน? และสมควรถูกยุบหรือไม่?

พรรคอนาคตใหม่แตกต่างจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ๆ ที่เคยถูกยุบไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตรงที่พรรคไม่เคยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

Advertisement

จุดแข็งของพรรคอนาคตใหม่ จึงได้แก่ การไม่มีข้อครหาเรื่องพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง ตลอดจนการถูกกล่าวหาว่ามีความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดิน

ขณะเดียวกัน พรรคอนาคตใหม่ยังผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ไม่ได้ถูกยุบก่อนหน้าการเลือกตั้งดังเช่นพรรค “ไทยรักษาชาติ”

ตลอดเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าพรรคอนาคตใหม่ทำงานทางด้านนิติบัญญัติได้ดี (แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกเรื่อง) นี่คือสิ่งที่ประจักษ์ชัดในการรับรู้ของทุกฝ่าย

จึงยังเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า ระหว่างการให้โอกาสพรรคอนาคตใหม่ทำงานล้มลุกคลุกคลานในสภาต่อไป กับการทำลายพรรคการเมืองนี้ จนแกนนำพรรคบางส่วนต้องออกมาเคลื่อนไหวนอกสภานั้น

ทางเลือกไหนจะก่อผลเสียมากกว่ากัน?

คำถามน่าสนใจถัดมา คือ ผลลัพธ์จากการยุบพรรคอนาคตใหม่จะนำไปสู่อะไร?

การจับจ้องไปที่อดีตกรรมการบริหารพรรคหรือแกนนำแถวสองที่จะยังทำงานในสภาต่อไปภายใต้เสื้อคลุมชุดใหม่ อาจมิได้ทำให้เราเข้าใจสภาพการณ์ในอนาคตได้ดีเพียงพอ

แต่ปัจจัยสำคัญกว่าก็คือโจทย์ที่ว่าใครเป็นผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่?

หากเราทึกทักว่าโครงสร้างทางประชากรของคนที่รักและชังพรรคอนาคตใหม่นั้นถอดแบบมาจากขั้วความขัดแย้งระหว่าง “เสื้อเหลือง/สลิ่ม” กับ “เสื้อแดง” ชนิดเป๊ะๆ

นั่นอาจเป็นความเข้าใจผิด

ถ้าพลังสำคัญของ “ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย” คือ คนเสื้อแดงซึ่งมีฐานที่มั่นในต่างจังหวัด รวมถึงคนชั้นกลางระดับล่างและคนชั้นล่างในกรุงเทพฯ

โดยกลุ่มการเมืองดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการแสวงหาความร่วมมือจากคนรุ่นใหม่ คนทำงานวัย 30-40 ปี ในเขตเมือง

พรรคการเมืองเช่นอนาคตใหม่ก็เข้ามาเติมเต็มสิ่งที่เคยขาดหายไปในหมู่คนเสื้อแดง

พลังสำคัญของพรรคการเมืองนี้จึงเป็นบรรดาคนรุ่นใหม่-คนวัยทำงานในเมืองใหญ่ ซึ่งไม่ถูกหลอกหลอนโดยแนวคิดเรื่อง “ผีทักษิณ” อีกแล้ว

แม้จะมีผู้สบประมาทว่าผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่อย่างแข็งขันมักเก่งแต่ในโซเชียล มีเดีย ทว่าไม่พร้อมต่อสู้บนท้องถนน

แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา (จนถึงก่อนคำตัดสินยุบพรรค) ก็ไม่เคยมีเงื่อนไขสำคัญที่บีบรัดให้พวกเขาต้องออกมาชุมนุมในพื้นที่สาธารณะโดยปราศจากทางเลือกอื่น

นอกจากนี้ พลังโซเชียลยังเป็นแรงผลักดันที่ส่งให้พรรคอนาคตใหม่ได้รับเสียงสนับสนุนกว่า 6 ล้านคะแนนในการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งยังช่วยปกปักพรรคการเมืองนี้ในทางสังคม (แม้จะพิทักษ์พรรคในทาง “การเมือง-กฎหมาย” เอาไว้ไม่ได้) อย่างไม่เคยเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองอื่น

ผลลัพธ์จากการยุบพรรคอนาคตใหม่จึงอาจก่อให้เกิดความเป็นไปได้หลายหลาก

ตั้งแต่การออกถนน การยกระดับการต่อสู้ในโลกออนไลน์

การแสดงอารมณ์/ปฏิกิริยาโกรธแค้น ต่อต้าน เพิกเฉย หรือขำขัน ต่อระบบ/ระบอบการเมืองที่เป็นอยู่

รวมทั้งการพ่ายแพ้-ยอมจำนน

ณ ปัจจุบัน คงไม่มีใครกล้าฟันธงว่าความเป็นไปได้รูปแบบไหนจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image