การเมืองไทยหลากมิติ

ถ้าจะสรุปสถานการณ์การเมืองไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยใจความว่านายกรัฐมนตรีรวมทั้งรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีอีกห้าราย ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจท่วมท้น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นั่นก็คงเป็นการมองการเมืองไทยประหนึ่งภาพวาดสองมิติ ที่ขาดความตื้นลึก-หนาบาง และความสมจริง ไปอย่างน่าเสียดาย

เพราะอย่างน้อยที่สุด หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจยุติลง ก็มี ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 17 คน ที่ออกมาแถลงแสดงความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐมนตรีซึ่งถูกอภิปรายรายหนึ่ง แม้ท้ายสุด พวกเขาจะต้องโหวตไว้วางใจรัฐมนตรีผู้นั้นตามมติพรรคและวิปรัฐบาลก็ตาม

ทางฟากฝ่ายค้านเอง ความขัดแย้งแคลงใจระหว่างพรรคเพื่อไทยกับอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ปรากฏชัดในวันสุดท้ายของการอภิปราย ก็บ่งชี้ว่าในระดับเบาบางที่สุด พรรคร่วมฝ่ายค้านมีปัญหาเรื่องการจัดสรรเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจ

Advertisement

หรือยิ่งไปกว่านั้น รอยร้าวนี้อาจบ่งชี้ถึงจุดยืน-ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ที่ผิดแผกแตกต่างระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ของขั้วตรงข้ามรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้ การเมืองในแต่ละขั้วจึงไม่ได้มีลักษณะสงบเงียบราบเรียบ ไร้คลื่นลมแปรปรวน

ขณะเดียวกัน สถานภาพของ “รัฐบาลประยุทธ์” ก็ใช่ว่าจะปลอดโปร่งเบาสบายตัว เพราะคนจำนวนไม่น้อยในสังคมยังค้างคาใจกับประเด็นที่ถูกคลี่เปิดให้สาธารณชนรับทราบระหว่างการประชุมสภา

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไอโอของกองทัพ, ภูมิหลังของสมาชิก ครม.บางคน เรื่อยไปจนถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับทุนอันสลับซับซ้อน ซึ่งว่ากันว่ามีจุดศูนย์กลางเป็นผู้ใหญ่ในรัฐบาล

นี่คือสภาวะการเมืองอัน “ไม่นิ่ง” ที่มองผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งในและนอกสภา

ทว่ายังมีมิติปัจจัยอื่นๆ ที่ดำรงอยู่นอกเหนือสถาบันการเมือง ซึ่งกำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจัยแรก คือ การรวมตัวทางการเมืองอย่างกระตือรือร้นของนิสิต นักศึกษา นักเรียน หรือบรรดาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ทวงถามความยุติธรรม และแสวงหาอนาคตที่ดีของตนเอง

นี่เป็นพลังทางสังคมที่เลื่อนไหลไปมาระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์ เป็นพลังที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางด้านพื้นที่และเวลา หากซึมแทรกอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถาม การเกิดความสงสัย ความโกรธ ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าคนรุ่นใหม่

พลังดังกล่าว คือ ปัจจัยทางการเมืองประการสำคัญ (ที่มิอาจหมิ่นแคลนหรือถูกประเมินอย่างหยาบๆ) ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า

อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด คือ สภาพเศรษฐกิจที่เซื่องซึมมายาวนาน ซึ่งเมื่อถูกกระหน่ำซัดด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ยิ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบรรยากาศจับจ่ายใช้สอยเงียบหงอยหนักขึ้นไปอีก

เมื่อนำมิติต่างๆ เหล่านี้มาประกอบรวมกัน สังคมการเมืองไทยในปี 2563 ก็ดูจะมีสภาพน่าหนักใจและน่าเป็นห่วง ไม่ใช่น่าสบายใจและมีความหวัง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image