สถานีคิดเลขที่12 : ยายื้อชีวิต!? : โดย จำลอง ดอกปิก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก้าวออกจากมุมเดิม

เปิดแคมเปญซีรีส์ใหม่ มีปัญหาปรึกษานายกฯ

เปิดช่องทางใหม่ สื่อสารกับประชาชน ทางหนึ่งคือใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ต้อนรับขับสู้

จัดให้ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ เข้าพบโดยตรง เพื่อสะท้อนปัญหา ความเดือดร้อน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณา ตัดสินใจ ออกนโยบายหรือมาตรการแก้ไข บรรเทาปัญหาต่อไป

Advertisement

อีกขาใช้กลไกฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มอบหมายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน เชื้อเชิญนิสิต นักศึกษา เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ ของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงจัดชุดออกไปรับฟังความคิดเห็นของนิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ตามสถานศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

แคมเปญใหม่ มีปัญหาปรึกษานายกฯ ประเดิมด้วยการเปิดประตูทำเนียบ ให้ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร ตัวแทนประชาชน และตัวแทนผู้ประกอบการอิสระ ราว 30 คน จับเข่าพูดคุยกับนายกฯไปแล้ว เมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ขณะที่การเปิดกว้างรับฟังปัญหาจากคนรุ่นใหม่นั้น ในชั้นของคณะกรรมาธิการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างการถกเถียงยังไม่มีข้อยุติ ว่าจำเป็นถึงขั้นต้องดึงมาร่วมงานกับคณะกรรมาธิการหรือไม่ ต้องตั้งอนุกรรมาธิการชุดใหม่ขึ้นมาเป็นการเฉพาะหรือไม่

แต่ในส่วนของการจัดทัวร์ ออกรับฟังความคิดเห็นมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น มีการติดต่อประสานงานแล้ว อย่างน้อย 5 แห่ง แต่มีการเลื่อน การเปิดรับฟังออกไป เนื่องจากอยู่ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19

รัฐนาวาเรือเหล็ก เผชิญมรสุมใหญ่ๆ 2 ลูก จะฝ่าข้ามคลื่นลมได้หรือไม่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม

เนื่องจากไม่ใช่คลื่นลมมรสุมธรรมดา

ปัญหาเศรษฐกิจนั้น เทียบได้กับสึนามิ ปัญหาการเมือง ก็ระดับสัญญาณเตือน แรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่ไม่อาจมองข้ามได้ เนื่องจากกำลังสั่งสมพลังรอการปะทุใหญ่ แฟลชม็อบ นิสิต นักศึกษา นักเรียน คนวัยหนุ่มสาว สลับลุกฮือ เรียกร้องประชาธิปไตย ความยุติธรรม

แต่เดิมนั้น นักวิชาการ ฝ่ายการเมือง ฟันธงตรงกัน การอยู่-การไป อายุขัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น

จุดตายอยู่ที่ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง อยู่ที่ฝีมือการบริหารจัดการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ เนื่องจากข้อได้เปรียบจากบทบัญญัติ กติกาปัจจุบัน มันล็อกไว้ มิให้รัฐบาลพ่ายแพ้ทางการเมือง

แต่พลันที่ ม็อบนิสิต นักศึกษาผุดเป็นดอกเห็ด ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน นับแต่ 21 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา

หลายฝ่ายละวางสายตา จากปัญหาเศรษฐกิจ หันมาโฟกัสม็อบคนหนุ่ม คนสาว

แฟลชม็อบเป็นเรื่องหลัก เศรษฐกิจ ปากท้องเป็นเรื่องรอง แต่ทั้งสองเรื่อง ก็เป็นเรื่องเดียวกัน

พุ่งตรงสู่ยอดอกรัฐบาล

เพียงแต่ผลกระทบต่อรัฐบาล จากกรณีปัญหาเศรษฐกิจร้ายแรงสุด ก็แค่รัฐบาลล่มสลาย ไปมิได้ตลอดรอดฝั่งครบเทอม 4 ปีตามเป้าหมาย แต่ก็อาจกลับมาสู่การครองอำนาจได้ เมื่อกติกาเป็นใจให้ชนะเลือกตั้ง หรือรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล

แต่กับเรื่องการเมือง เรื่องม็อบ อาจส่งผลสะเทือนยิ่งกว่านั้น

ระดับขุดรากถอนโคน

การเปิดแคมเปญซีรีส์ใหม่ มีปัญหาปรึกษานายกฯ-เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็น เสียงต่างจากนักศึกษา จึงเป็นการมุ่งถอดชนวนปัญหาร้อน ที่รุมเร้า เขย่ารัฐบาลโดยตรงเป็นการเฉพาะ

บิ๊กตู่รู้ รัฐบาลตื่นแล้ว ปัญหาอยู่ตรงไหน

แต่แคมเปญใหม่ มุขใหม่ จะลดทอน บรรเทาปัญหาได้หรือไม่

ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อรับฟังแล้ว รัฐบาลนำข้อมูลที่ได้นั้น ไปดำเนินการ แก้ไขลดกระแสความไม่พอใจ ที่มีต่อเรื่องการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร

นำชุดข้อมูล ของคนรุ่นใหม่-เสียงประชาชน ที่มีความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ไปใช้แปรเป็นรูปธรรมจากการศึกษา ไปสู่การปฏิบัติ ลงมือแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร

ถ้าทำแค่เป็นพิธีกรรม สร้างภาพ แคมเปญซีรีส์ใหม่ ก็อาจเป็นได้แค่ ยาชะลอวัย ยื้อชีวิตให้ยาวขึ้นชั่วคราวเท่านั้น

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image