สถานีคิด : โควิด, สิทธิ, หน้าที่

สถานีคิด : โควิด, สิทธิ, หน้าที่

คนไทยจำนวนไม่น้อยชอบผูกรวมคำ-แนวคิด “สิทธิ-หน้าที่” เข้าด้วยกัน เป็นแพคเกจเดียว เป็นสองด้านของเหรียญเดียว จนมักเกิดอาการทึกทักเอาเองว่า ถ้าสังคม/รัฐเรียกร้องให้ใครบางคนบางกลุ่มต้องมี “หน้าที่” บางประการมากขึ้นเป็นพิเศษ นั่นก็หมายถึงพวกเขาจะได้รับ “สิทธิ” บางด้านน้อยลง

ในทางกลับกัน หากใครเรียกร้อง “สิทธิ” บางประการอย่างแข็งขันจริงจังขึ้น เขาก็จะถูกมองว่าเป็นพวกละเลย-ไม่ปฏิบัติ “หน้าที่” ที่พึงกระทำของตน

คำถามสำคัญ คือ “สิทธิ-หน้าที่” นั้นเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” จริงหรือไม่? หรือในหลายกรณี “สิทธิ” กับ “หน้าที่” อาจเป็นคนละเรื่อง คนละสิ่ง ที่ควรพิจารณาแยกจากกัน

เพราะถ้านำมายำมั่วรวมกันเมื่อใด วิธีคิด-แนวทางปฏิบัติอันผิดฝาผิดตัวก็จะบังเกิดขึ้นตามมา

Advertisement

วิกฤต “โควิด-19” เป็นอีกสถานการณ์หนึ่ง ซึ่งแนวคิดเรื่อง “สิทธิ” และ “หน้าที่” ในสังคมไทย กลายมาเป็นประเด็นใจกลางของการพยายามแก้ไขปัญหา-ระงับยับยั้งโรคระบาด ตลอดจนความขัดแย้งข้างเคียงอื่นๆ

ในเรื่องพื้นฐานที่สุด ข้อเรียกร้องให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม, กักตนเองอยู่ในที่พักอาศัย, นั่งทำงานอยู่ที่บ้าน ล้วนเป็นการมอบหมายภาระให้พลเมืองทุกคนต้องมี “วินัย” และมี “หน้าที่” ควบคุมตัวเองอย่างเข้มงวดมากกว่าภาวะปกติ

แต่อีกด้านหนึ่ง ประชาชนและกิจการเอกชนจำนวนมากก็มี “สิทธิ” จะได้รับการเยียวยาที่ครอบคลุมเหมาะสมโดยภาครัฐ อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจชะงักงันในยุคปัจจุบันเพราะมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งไม่น่าจะกระเตื้องขึ้นทันตาเห็นภายหลังวิกฤตสาธารณสุขนี้สิ้นสุดลง

Advertisement

ภาพที่ชัดเจนยังปรากฏในกรณีการประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมี“หน้าที่” ต้องกักตัวเองอยู่ในเคหสถานอย่างเด็ดขาดระหว่างสี่ทุ่มถึงตีสี่ อันหมายความว่า “สิทธิ” ในการประกอบกิจกรรมบางอย่างหรือการเดินทางของพวกเขาจะต้องถูกจำกัดควบคุม

ความย้อนแย้งระหว่างแนวคิด “สิทธิ”” กับ “หน้าที่” ยังกลายเป็นข้อถกเถียงทางสังคมตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อคนไทยที่เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศต้องเผชิญหน้ากับมาตรการกักตัว 14 วัน ภายใต้การดูแลของรัฐ

ณ สถานการณ์ดังกล่าว สังคมย่อมต้องการเห็นบุคคลเหล่านั้นปฏิบัติ “หน้าที่” ด้วยการยินยอมพร้อมร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมี “วินัย”

ทว่า “สิทธิ” พึงมีของเหล่าบุคคลที่เดินทางกลับมาถึงบ้านเกิดเมืองนอน ก็คือ การได้รับแจ้งข้อมูลเรื่องการกักตัวอย่างครบถ้วนชัดเจนก่อนขึ้นเครื่องบิน และการประสานงานที่เป็นระบบระเบียบจากบรรดาผู้รับผิดชอบ เมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยานในประเทศไทย

รวมถึงการอำนวยความสะดวกเรื่องการดำเนินการส่งตัว, การขนส่งเคลื่อนย้าย และที่พักชั่วคราว ที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในนั้นสองสัปดาห์

แน่นอนที่สุด เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานบกพร่องผิดพลาด จนทำให้มีการปล่อย
ผู้โดยสารกว่าร้อยชีวิตออกจากสนามบิน “หน้าที่” ของคนไทยเหล่านั้นคือการกลับมารายงานตัวตามข้อเรียกร้องของรัฐบาล (ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีใครปฏิเสธ)

แต่ขณะเดียวกัน เราก็ “ไม่มีสิทธิ” จะไปตีตราพวกเขาทุกคน (หรือส่วนใหญ่) ว่าเป็น “คนหนีการกักตัว” รวมทั้ง “ไม่มีสิทธิ” จะไปเปิดเผยชื่อ-สกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ประหนึ่งว่าคนไทยกลุ่มนี้เป็นนักโทษ-ฆาตกรในคดีร้ายแรง

ดังนั้น การแบ่ง “สิทธิ” แยก “หน้าที่” ให้ชัดเจน จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสถานการณ์โรคระบาดฉุกเฉิน

ตรงกันข้าม การใช้สองแนวคิดข้างต้นอย่างกำกวม ปะปน และตีมึน จนนำไปสู่การกดดันเรียกร้อง “หน้าที่” จากประชาชนอย่างสูงลิ่ว แต่ (แสร้ง) หลงลืม “สิทธิ” ของพลเมือง ก็อาจมีความเชื่อมโยงไปถึงความล้มเหลวด้านอื่นๆ ของรัฐและสังคม

ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการปัญหาในภาพรวม หรือ “ลัทธิล่าแม่มด” อันมืดมน ไร้สติ ที่ไม่เคยจางหายไปไหน หากอุบัติขึ้นเป็นระยะๆ ท่ามกลางความป่วยไข้ของประเทศ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image