สถานีคิดเลขที่12 : เงินกู้-เงินแผ่นดิน : โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

ย้อนกลับ ไปอ่านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2557

ที่มีคำวินิจฉัย มีมติ คว่ำพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …

หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ล้านล้าน

พบประเด็น ในเชิง “หลักการ” ที่น่าสนใจ

Advertisement

โดยศาลวินิจฉัย ตอนหนึ่งว่า

“…เงินกู้นี้ เป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญ หรือไม่
เห็นว่า คำว่า ‘เงินแผ่นดิน’ ไม่ได้มีการกำหนดความหมายไว้โดยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด

แต่เมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 มาตรา 4

Advertisement

ประกอบกับความเห็นของพยานบุคคล ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางการเงิน การคลัง และงบประมาณ

ตลอดจนบรรดากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

เห็นว่า การกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …

เป็นเงินแผ่นดิน

ตามความหมายของรัฐธรรมนูญ

…การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง

เพื่อการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม…”

คำวินิจฉัยข้างต้น น่าจะถือเป็นหลักการทั่วไป และผูกพันทุกเรื่องในการใช้ “เงินแผ่นดิน”

ดังนั้น ที่รัฐบาลปัจจุบัน ผลักดัน พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน ออกมา ก็ควรจะอยู่ในหลักการนี้ เช่นกัน

คือ เป็น “เงินแผ่นดิน” ที่ต้องอยู่ใน กรอบวินัยการเงินการคลัง

รักษาเสถียรภาพ

การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

และความเป็นธรรมในสังคม

จึงเกิดคำถามว่า รัฐบาลจะทำให้เกิดความมั่นใจ ในการใช้งบประมาณนี้อย่างไร

เพราะไม่ได้ปั๊มแบงก์ ออกมาใช้กันเปล่าๆ

แต่นี่เป็น “เงินกู้”

มากับ “ต้น”

และมากับ “ดอกเบี้ย”

เป็นค่าใช้จ่ายมหึมา ที่มิใช่ภาระของรัฐบาลเท่านั้น

แต่เราคนไทยทุกคนต้องร่วมจ่าย ร่วมแบก

จะเพลิด หรือเพลิน กับเงินที่ “แจก” ไม่ได้เด็ดขาด

คงต้องร่วมกัน แสดงความเห็น ตรวจสอบ อย่างกว้างขวางรอบคอบ

จะมาอ้างความเร่งด่วน หรือประเด็นเฉพาะหน้าอย่างเดียวไม่ได้

ควรจะเคลียร์ทุกเรื่องที่มีคำถามและกำกวม

อย่างสิ่งที่ กูรู ทางเศรษฐศาสตร์ นำโดยคนแบงก์ชาติเก่า

อาทิ นายวีรพงษ์ รามางกูร นายโอฬาร ไชยประวัติ นายศิริ การเจริญดี นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล นายเสรี จินตนเสรี นายดุสิต เต็งนิยม นายกิตติพร ลิมปิสวัสดิ์ นายจิตติพันธุ์ สุขกิจ นายสุพจน์ สัตยธรรม นายปราโมทย์ ชัยสาม น.ส.ศิริพรรณ บุศยศิริ ม.ร.ว.นพเกตมณี เต็งนิยม นายพิสิษฐ์ วีระสมบูรณ์ศิลป์ น.ส.อรพรรณ สมบัติยานุชิต นายสมชาย เสตกรณุกูล ฯลฯ

ขอให้แบงก์ชาติยุติการดำเนินการ เรื่องการใช้วงเงิน 400,000 ล้านบาท รับซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน เพราะขัดกับหลักการของธนาคารกลาง

ก็ควรมีคำตอบ

รวมไปถึงสิ่งที่ ดร.โกร่ง วีรพงษ์ เขียนในบทความ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร (มติชน 9 เมษายน 2563)

ตั้งคำถาม เมื่อตั้งเป้าว่าจะใช้เงินกว่าล้านล้านบาทพยุงเศรษฐกิจแล้ว

จะใช้จ่ายเงินอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ใช้อย่างไรเพื่อเป็นการลงทุนที่จะมีของเหลือเป็นโครงสร้างพื้นฐานต่อไปในอนาคต

จะใช้จ่ายอย่างไรให้ถึงมือของครัวเรือน ให้ครัวเรือนเป็นผู้ใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ ตามแต่เขาจะเห็นว่าสิ่งใดจะเป็นประโยชน์กับเขามากที่สุด

โปรดช่วยมีคำตอบ

อย่าแค่โปรยเงิน หาคะแนนนิยมอย่างเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image