สถานีคิดเลขที่12 : จนมุม : โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

ดูไทม์ไลน์ การจ่ายเงิน 5,000 บาท เพื่อเยียวยาผู้เดือดร้อนจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 แล้ว

ยุ่งขิงพิกล

กระทรวงการคลังบอกจะปิดรับลงทะเบียนวันที่ 22 เมษายน ซึ่งยอดอาจจะแตะ 28 ล้านคน

กลั่นกรองว่า ใครได้-ไม่ได้ ไปแล้ว 4.5 ล้านคน

Advertisement

แล้วจะสรุปยอดเบ็ดเสร็จที่รัฐบาลตั้งตุ๊กตาไว้ว่าจะเยียวยาได้ 9 ล้านคน เมื่อไหร่ก็ยังไม่ชัด

แต่ที่ไม่ต้องรอ ฟันธงลงไปได้เลย นั่นคือคนไม่ได้ มากกว่าคนได้แน่ๆ

ซึ่งตรงนี้ แก้ไม่ได้ เป็นมหาพายุฤดูร้อน ไม่ต้องสงสัย

Advertisement

ต้องเตรียมตัวรับให้ดี

เพราะแค่เจอระลอกแรกไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องปิดกระทรวงการคลังหนีอย่างที่เห็น ขณะที่ผู้นำรัฐบาลมีคำขอโทษ ติดปากไปเรียบร้อย

ส่วนระบบ AI (แบบเทียม-เทียม) ล้มละลายในแง่ความเชื่อถือ ไปตามระเบียบ

ตอนนี้เหลือระบบ I เองเป็นหลัก

กระทรวงการคลังบอกว่า จะเปิดให้คนที่ไม่ได้รับการเยียวยาอุทธรณ์ในวันที่ 20 เมษายน เป็นต้นไป

โดยงัดวิธีแปลกๆ มาใช้ นั่นคือ ให้ถ่ายรูปคนละ 3 รูป มายืนยันว่าทำอาชีพอิสระ และได้รับความเดือดร้อนจริงๆ

ซึ่งไม่รู้จะให้ส่งยังไง ส่งทางไปรษณีย์ หรือสแกนเข้าคอมพิวเตอร์

จากนั้นจะให้ใครตรวจสอบ จะกลับไปพึ่ง AI ก็ไม่รู้จะเขียนโปรแกรมประมวลผลยังไง

หรือจะให้ “I เอง” คือใช้คนนี่แหละตรวจสอบ

คนเป็นล้านๆ เอา 3 รูป คูณเข้าไป จำนวนมหึมา

เห็นแย้มๆ ออกมา คือ จะใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยกลั่นกรอง ซึ่งหวังว่า จะรวดเร็วเพราะรู้พื้นที่ รู้ลูกบ้านอยู่แล้วว่าใครทำอะไร ที่ไหน

ซึ่งก็คงได้ระดับหนึ่ง

แต่ในสภาพเป็นจริง คนเดือดร้อนอีกจำนวนมหึมา ไม่ได้อยู่ในตำบล หรือหมู่บ้าน

พวกเขาถูกให้ช่วยชาติ ด้วยการกักตัวอยู่ตามเมือง ที่พวกเขาทำมาหากิน

กลายสภาพ เป็น “คนจนเมือง” อยู่ในบ้านเช่า หอพัก สลัม ที่มีจำนวนไม่น้อยไม่มีเลขที่บ้าน หรือไม่อยู่ในสารบบการปกครอง

คนเหล่านี้ คือ พวกที่ต้องการการเยียวยาเร่งด่วน

ถามว่า แล้วจะเข้าถึงคนเหล่านี้ อย่างไร

ดูแล้ว เหนื่อยใจ ทั้งคนช่วย และคนอยากให้ช่วย

แต่ก็นั่นแหละ ถึงจะยาก-ลำบาก อย่างไร “คนช่วย” ซึ่งหมายถึงฝ่ายบ้านเมือง ก็ต้องทุ่มเททุกวิถีทางช่วย

แม้ว่า คนอยากให้ช่วย จะก้าวร้าว กระทำตัวไม่เรียบร้อย ดื้อ บอกไม่ฟัง เอาแต่ได้ ฯลฯ

แต่ถ้ามองว่า คนอยากให้ช่วยเหล่านี้ หากเขาไม่ “จนมุม” “จนตรอก” “จนหนทาง” เขาก็คงไม่เหลืออดออกมากระมัง

ความเดือดร้อนครั้งนี้ “คนอยากให้ช่วย” ไม่ได้ทำตนเอง

หากแต่เป็นชะตากรรมร่วมของประเทศและโลก

แถมต้องทำ “เพื่อชาติ” ด้วย

เมื่อถึงที่สุดแห่งความอดทน เพราะท้องหิว ไม่มีเงินจับจ่าย

พวกเขาก็มีสิทธิที่จะขอความช่วยเหลือ

ไม่ใช่เรื่องของการ “สงเคราะห์” หรือแบมือรับสบายๆ แต่อย่างใด

“คนช่วย” ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐเป็นหลัก จึงต้องปรับความรู้สึกใหม่ ว่าตนเองไม่ใช่คุณพ่อรู้ดี

ไม่ใช่เจ้าของเงิน

ไม่ใช่สถาบันสถาปนาที่จะชี้เป็นชี้ตายคนอื่น ด้วยอำนาจแห่งตน

หากแต่ต้องใช้ความเหนือกว่าเข้าไปช่วยอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม มีมาตรฐาน

แม้จะยาก จะปั่นป่วน จะถูกด่า ต่อว่า ก็ต้องเดินหน้าช่วยต่อไป

อย่าให้พี่น้องเรารู้สึกหมดหนทาง

เห็นภาพข่าว แม่อุ้มลูก จะกระโดดเจ้าพระยาฆ่าตัวตาย เพราะความยากเข็ญ

เห็นกระโดดตึก เพราะตกงานแล้ว

น้ำตาซึม

มีคนจนมุมถึงขนาดนั้นแล้ว อย่าดูดาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image