สถานีคิดเลขที่ 12 : สู้โควิด‘เชิงรุก’ โดยนฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิด : สู้โควิด‘เชิงรุก’

สถานีคิดเลขที่ 12 : สู้โควิด‘เชิงรุก’ โดยนฤตย์ เสกธีระ

หลังจากตั้งรับมาได้ระยะหนึ่ง ประเทศไทยเริ่มหาวิธีการสู้กับโควิด-19 กันแล้ว
ไวรัสโควิดเมื่อระบาด แรกเริ่มได้คร่าชีวิตคนไปจำนวนมาก

ทั้งคนรวยทั้งคนจน ถ้าพลาดท่าติดเชื้อก็มีสิทธิป่วย

คนที่มีต้นทุนทางสุขภาพต่ำ โอกาสเสียชีวิตก็สูง

การสู้กับโควิดตอนนี้ยังคงเป็นการ “ตั้งรับ” นั่นคือ ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ

Advertisement

สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินอาหารปรุงสุก ใช้ช้อนตัวเอง และเว้นระยะห่างเกิน 1.5 เมตร เป็นต้น

สำหรับวิธีดังกล่าว ประเทศไทยทำมาได้เกือบ 2 เดือน

ตัวเลขทางสาธารณสุขเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ

Advertisement

มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยลง มีผู้ป่วยที่หายกลับบ้านได้จำนวนที่มากกว่า

เป้าหมายในตอนนี้คือประวิงเวลาให้โควิดทำลายชีวิตคนไทยได้น้อยที่สุด

รอจนกว่าวัคซีนจะผลิตออกมาได้

แล้วถ้าผลิตออกมาได้สำเร็จ วันนั้นก็จะเป็นวันที่เราจะเปลี่ยนยุทธวิธี

เปลี่ยนจาก “รับ” ไปเป็น “รุก”

นอกจากโควิดจะทำลายชีวิตมนุษย์แล้ว ไวรัสตัวนี้ยังทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกดิ่งเหว

รายได้ของมนุษย์ที่ต้องใช้จ่ายซื้อข้าวขาดหาย เพราะระบบเศรษฐกิจเป็นอัมพาต

ตอนนี้รัฐบาลได้เตรียมการสำหรับรับมือภาวะดังกล่าวเอาไว้

ทั้งการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทั้ง พ.ร.ก.ใช้เงินเข้าไปช่วยผู้ประกอบการ 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ใช้เงินเข้าไปดูแลเสถียรภาพทางการเงิน 4 แสนล้านบาท

แต่วิธีการดังกล่าว ถือเป็นการ “ตั้งรับ” กับการรุกทางเศรษฐกิจของโควิด

การ “ตั้งรับ” ย่อมไม่มีความยั่งยืน

การ “ตั้งรับ” อย่างเดียวย่อมทำให้ขวัญกำลังใจหดหาย เพราะรายได้ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้คนรู้สึกมั่นคง

สภาวะดังกล่าวทำให้กลุ่มที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจพยายามหาวิธีการสู้กับโควิด

เปลี่ยนจากการ “รับ” มาเป็น “รุก”

ทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ในขณะที่โควิดยังระบาด และมนุษย์ไม่ได้รับอันตราย

ล่าสุด กลุ่มที่ปรึกษาจากภาคเอกชนได้นำเสนอให้รัฐบาลจัดอันดับพื้นที่ และจัดอันดับธุรกิจ

แบ่งเป็น 3 สีคือ เขียว ปลอดภัย เหลือง เกือบปลอดภัย และแดง ไม่ปลอดภัย

พร้อมทั้งเสนอให้ธุรกิจหรือพื้นที่ที่เป็นสีเขียว สามารถทำการค้ากันได้ภายใต้เงื่อนไขความมั่นใจว่าไม่ติดเชื้อ

ขณะเดียวกัน มีนักวิชาการทางการแพทย์เสนอกรอบการปฏิบัติที่จะทำให้คนปลอดภัย

ประกอบด้วย 5 ข้อ สรุปได้ว่า 1.เพิ่มความเข้มในมาตรการสาธารณสุข 2.ทำให้ทุกคน ทุกสังคม และทุกพื้นที่เข้าใจ และปฏิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ

3.เปิดให้ธุรกิจเริ่มเดินหน้า โดยมีการประเมินความเสี่ยง

4.ปิดแหล่งแพร่โรคที่สำคัญ เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศ สนามการพนัน

และ 5.มีระบบเฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์การแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศ

นี่เป็นสัญญาณการต่อสู้กับโควิดที่ทำลายระบบเศรษฐกิจ

เป็นการรับมือที่เปลี่ยนจาก “รับ” มาเป็น “รุก”

แต่ผลการสู้จะชนะหรือแพ้ ต้องย้อนกลับไปดูสถิติการเจ็บป่วยเป็นระยะๆ

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image