สถานีคิดเลขที่12 : 4 พ.ร.ก.เข้าสภา : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

หลังจากรัฐบาลแสดงบทบาทรับมือไวรัสโควิด ดึงคุณหมอใหญ่น้อยมาช่วยคุม ออกมาตรการต่างๆ สกัดการแพร่ระบาด กระทั่งสามารถผ่อนคลาย มาถึงเฟส 2 จะพิจารณาเฟส 3 กันปลายเดือนนี้

สัปดาห์หน้า จะถึงคิวของ ส.ส. ที่จะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ พิจารณาพระราชกำหนด 4 ฉบับ

พ.ร.ก. 3 ฉบับที่เกี่ยวกับการแก้วิกฤตโควิด ประกอบด้วย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

ฉบับแรก มีสาระสำคัญให้กระทรวงการคลัง มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลไทย มูลค่ารวมกันไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2564

Advertisement

เพื่อเอามาใช้เฉพาะ 3 กรณี คือ แก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19, ช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19

ฉบับต่อมาคือ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ซึ่งมีวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท

และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

Advertisement

เลยเรียกรวมๆ ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท

และฉบับที่ 4 พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 เพื่อปรับเปลี่ยนการประชุมให้สอดคล้องกับยุคที่ต้องควบคุมระยะห่าง

การพิจารณา พ.ร.ก.ของสภาผู้แทนฯ ก่อนเข้าวุฒิสภา เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจะต้องให้ความสนใจ ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง

ในเชิงรูปแบบ สภาจะต้องอยู่ภายใต้ “นิวนอร์มอล” เหมือนกัน การประชุมสภา การประชุมกรรมาธิการ ต้องเปลี่ยนหมด

อย่างการพิจารณา พ.ร.ก. ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เวลาในการประชุมจะถูกบีบด้วยเคอร์ฟิว 5 ทุ่ม ต้องเลิกประชุมเร็วขึ้น ทำให้ฝ่ายค้านต่อรองว่า ให้ประชุม 3 วัน 27-29 พ.ค. น้อยเกินไป จะขอเพิ่มวันอีก

วิธีการประชุม ผู้แทนฯต้องนั่งห่าง จะนั่งกระซิบกระซาบคงไม่สะดวกแล้ว

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร พูดจาแทนประชาชนที่เดือดร้อนให้ครบถ้วน

ขณะที่ฝ่ายบริหารต้องให้ความสำคัญ รับเรื่องรับเสียงสะท้อนไปจัดการ แก้ไข

สถานการณ์ไวรัสระบาด การใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น ประเมินได้ไม่ยากว่า อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนทั่วไปเป็นยังไง

ต้องระวัง อย่าให้บทบาทของ ส.ส.ไปซ้ำเติมความรู้สึกของประชาชนอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image