ผู้เขียน | วรศักดิ์ ประยูรศุข |
---|
ฟังรอบด้าน : วรศักดิ์ ประยูรศุข
เริ่มต้นแล้ว การประชุมสภา เพื่อพิจารณา พ.ร.ก. 3 ฉบับ
3 ฉบับที่ว่า ประกอบด้วย 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา และ 3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
การอภิปรายจะยาวไปถึงวันอาทิตย์ที่ 31 พ.ค. และลงมติทีละฉบับในวันเดียวกัน คือวันที่ 31 พ.ค.
ทั้ง 3 ฉบับ มีวงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท เป็นภาพสะท้อนขอบเขตความเสียหายที่เกิดจากไวรัสมรณะในรอบนี้
การอภิปรายในสภาวันแรก 27 พ.ค. เนื้อหาส่วนใหญ่ เป็นการอภิปรายถึงการจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด หลายเรื่องหลายประเด็น
ตั้งแต่การใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรการต่างๆ การเยียวยา และการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ที่เสนอมา
เข้าใจได้ว่า บรรดา ส.ส.คงอัดอั้นมานาน อยากจะสะท้อนปัญหา ต้องการพูดจาแทนประชาชน แต่สภาพต่างๆ ในสองเดือนที่ผ่านมาไม่เอื้ออำนวย
ส่วนหนึ่ง คือ เป็นช่วงที่สภาปิดสมัยประชุม เพิ่งจะเปิดสมัยประชุมเมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา
หลังจากประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อ 26 มี.ค. บทบาทต่างๆ ไปอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ
ฝ่ายค้านพยายามเคลื่อนไหวขอเปิดประชุมสภาเป็นสมัยวิสามัญ เพื่อจะให้ผู้แทนราษฎรได้อภิปรายเรื่องการแก้ปัญหาโควิดโดยเฉพาะ ก่อนจะเปิดสมัยประชุมสามัญ แต่ทางรัฐบาลปฏิเสธ
เรื่องนี้น่าเสียดาย เพราะหลายๆ ปัญหาในช่วงตึงเครียดดังกล่าว ถ้าให้สภาได้ทำหน้าที่เป็นปากเสียง บอกเล่าปัญหา และทุกข์ร้อนของประชาชน จะช่วยชี้เป้า ช่วยจี้และกระตุ้นให้รัฐบาล และกลไกแก้ปัญหา สามารถจัดการได้ตรงจุดมากขึ้น
ความภูมิใจของรัฐบาลที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้ จะสมบูรณ์มากขึ้น
อย่างเรื่องหน้ากากอนามัย ที่กว่าจะมีวางขาย มีใช้ทั่วกัน เวลาก็ผ่านไปเป็นเดือน
หรือการจ่ายเงินเยียวยา ที่รัฐบาลได้คะแนนนิยมไปมาก แต่วิธีการแจกที่มีขั้นตอนยุ่งยากสำหรับประชาชนบางกลุ่ม กลายเป็นเรื่องที่สร้างความรู้สึกด้านลบ ประชาชนไม่น้อยรู้สึกว่าตนเองถูกละทิ้ง ไม่ได้รับการเหลียวแล
การแก้ปัญหาโรคระบาดที่ยึดระบบราชการเป็นหลักในช่วงที่ผ่านมา บุคคลในวงการรัฐบาลเองน่าจะทราบดีว่า มีจุดอ่อนข้อบกพร่องอย่างไร
จากนี้ไป เป็นห้วงเวลาของการฟื้นฟู เยียวยา ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ใหญ่โตแหลมคมมากขึ้น
เสียงจากสภา จากตัวแทนชาวบ้าน แม้บางครั้งจะทิ่มแทง ไม่น่าฟัง แต่จำเป็นจะต้องรับฟังมากขึ้นเรื่อยๆ