สถานีคิดเลขที่12 โดย จำลอง ดอกปิก : คงรูป‘เฉพาะกิจ’!?

พรรคพลังประชารัฐถึงครา ถอดหน้ากาก เผยโฉมที่แท้จริง

เมื่อกรรมการบริหารพรรคลาออกเกินครึ่ง เปิดทางยกเครื่อง เลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่ ผลักดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้า แทนอุตตม สาวนายน

แรกก่อตั้ง ไม่ว่านักวิชาการ ฝ่ายการเมือง ประชาชนทั่วไป ชี้ว่าพลังประชารัฐ คือพรรคลายพราง ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ

ใครต่อใคร ต่างปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง

Advertisement

ทั้งที่ไม่ผิดข้อเท็จจริง

ยกชื่ออุตตม ยกชื่อสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ 2 พลเรือนที่มีตำแหน่งสำคัญในพรรค พะยี่ห้อ ยืนยัน

ไม่ใช่พรรคทหาร

หลังเลือกตั้งทั่วไป ไม่นาน “บิ๊กป้อม” ตัวจริง เสียงจริง ขยับมานั่งในตำแหน่ง ประธานยุทธศาสตร์พรรค

เติมสี เพิ่มความเขียว

ล่วงถึงเดือนมิถุนายน มีชื่อเป็น ว่าที่หัวหน้า

แต่งตัวรอ ขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

ปฏิเสธมิได้อีกต่อไปว่า พลังประชารัฐ ไม่ใช่พรรคทหาร

อันที่จริง การตั้งพรรค ที่เรียกว่าพรรคทหารนั้น ไม่ผิดอะไร

เป็นพรรคการเมืองถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

แต่ที่ไม่ยอมรับกัน

เนื่องจากอาจส่งผลได้-เสียทางการเมือง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังรัฐประหาร กองทัพยึดอำนาจการปกครอง โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

ฝ่าย เสธ.-มันสมองของพรรคคงไม่อยากล้อเล่น ท้าทายประชาชนเลือก โดยแบ่งขั้วข้างอย่างชัดเจน

ว่ากันว่า การรัฐประหารครั้งล่าสุด กองทัพถอดบทเรียน ความล้มเหลวในการรัฐประหารครั้งที่ผ่านๆ มา

ป้องกันเสียของ

ถอดบทเรียน แม้กระทั่งตั้งพรรคการเมือง เพื่อมิให้เป็นแค่พรรคเฉพาะกิจ ซ้ำรอยพรรคทหาร ที่ถึงกาลล่มสลายอย่างรวดเร็ว ลงสนามเลือกตั้งครั้งเดียวก็มี

วางเป้าหมาย พรรคพลังประชารัฐ สูงส่งเป็นสถาบัน เป็นองค์กรทางการเมือง

ดำรงคงอยู่สืบไป

แต่พลังประชารัฐ ก็ดูดนักการเมืองรุ่นเก่า ลายคราม จากพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีคะแนนนิยมในพื้นที่แน่นหนามาร่วมสังกัด และส่งลงสนามเลือกตั้ง

ถอดแบบ สามัคคีธรรม อีก 1 พรรคทหาร

โตลัดวิธีเก่า เบ้าเดียวกัน

ไม่มีอะไรเป็นนวัตกรรมการเมือง ในแนวทางปฏิรูปแม้แต่น้อย

แต่สิ่งอันเป็นแม่เหล็กดึงดูด (อดีต) ส.ส. ที่พลังประชารัฐมีเหนือกว่าสามัคคีธรรม คือการกลัวเสียของ

แม่น้ำอีกสายของ คสช. ดีไซน์รัฐธรรมนูญสุดวิจิตรพิสดาร

ใช้ 250 ส.ว.แต่งตั้งเป็นนั่งร้าน การันตีสืบทอดครองอำนาจ

พลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวบรวมเสียง ส.ส.-ส.ว.เป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา โหวตหนุน ‘บิ๊กตู่’ ขึ้นเป็นนายกฯได้สำเร็จ

เป๊ะตามการดีไซน์

รัฐบาลที่มีพรรคประชารัฐเป็นแกนนำบริหารประเทศไม่ทันครบ 1 ขวบปี

สมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส. กรรมการบริหารพรรค ไม่พอใจคณะบริหารชุดเก่าหรือชุดปัจจุบัน

เคลื่อนไหวไขก๊อกเกินครึ่ง ดีดพ้นจากตำแหน่งโดยปริยาย

เป้าหมายแท้จริง มิได้จำกัดวงอยู่เฉพาะตำแหน่งในพรรค หากแต่ปลายทางคือการยึดคืนเก้าอี้รัฐมนตรี นำมาจัดสรรปันส่วนใหม่

แน่นอนว่าในส่วนของพรรคนั้น ใครมา ใครไป การเปลี่ยนแปลง ไม่มีผลต่อพรรคมากนัก

ไม่ว่าใครนั่งหัวหน้า

ตราบใด ที่บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญยังมีผลบังคับใช้

พรรคพลังประชารัฐยังคงเป็นแม่เหล็กพลังสูงอยู่ อย่างมิต้องสงสัย ดึงดูดได้สนิททั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง ที่เสนอตัวเป็นพรรคแนวร่วม-ร่วมรัฐบาล

เนื่องจากมีหลักประกันการเข้าสู่อำนาจ

แต่หลักประกันนี้มีอายุ มีความเป็นชั่วคราว ไม่ยั่งยืน

อาจช่วยลากความเป็นพรรคเฉพาะกิจที่ดำรงอยู่ได้โดยอาศัยบทเฉพาะกาลออกไปได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

มีชีวิตยืนยาวกว่าสามัคคีธรรม

แต่สิ่งที่จะเป็นหลักประกันความเป็นสถาบัน องค์กรทางการเมือง คือการอยู่ร่วมชายคาด้วยแนวคิด อุดมการณ์เดียวกัน

นิมิตหมายความยั่งยืน ยังไม่ปรากฏ

ที่พบเห็นคือการเป็นพรรคการเมือง รวมดาวกระจาย

มากด้วยความขัดแย้งต่อสู้แย่งชิงตำแหน่ง รัฐมนตรี

น่าคิดว่า วันหนึ่งเมื่อบทเฉพาะกาลสิ้นสุด

ไม่มีอะไรน่าพิสมัย

ต้องแข่งขันด้วยนโยบาย ฝีมือบริหาร ไม่มีแต้มต่อ ข้อได้เปรียบทางการเมืองสูงอย่างสูงยิ่งอีกต่อไป

พรรคเช่นว่านี้ จะคงรูปอยู่ได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image