สถานีคิดเลขที่ 12 : อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ของประชาธิปไตยไทย : โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ของประชาธิปไตยไทย : โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ของประชาธิปไตยไทย : โดย ปราปต์ บุนปาน

เมื่อมองย้อนไปยังอดีต เราไม่สามารถปฏิเสธ “สาระสำคัญ” ของความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้

ไม่ว่ารายละเอียด/บริบทแวดล้อมว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะถูกค้นพบเพิ่มเติมหรือถูกมองข้ามไป

ไม่ว่าประจักษ์พยาน/หลักฐานบางอย่างจะถูกลดทอนคุณค่าลง หรือมุมมองต่อสมาชิกระดับนำของคณะราษฎรหลายคนจะพลิกผันไปขนาดไหน

ไม่ว่าท่าทีของผู้นำรัฐบาลยุคหลัง จะประเมินสถานะ-คุณค่าของ “วันที่ 24 มิถุนายน” ในแง่ลบเพียงใด

Advertisement

เพราะอย่างไรเสีย ประเทศไทยก็ได้เดินหน้าเคลื่อนตัวเข้าสู่ “กระบวนการประชาธิปไตย” (อันเต็มไปด้วยระลอกคลื่นของการต่อสู้ ปะทะ สังสรรค์ เห็นร่วม หรือขัดแย้ง อย่างหลากหลายและต่อเนื่อง) เรียบร้อยแล้ว

จนถึงปัจจุบัน ระบอบการปกครองของไทยมีลักษณะเป็น “ประชาธิปไตยไม่มากก็น้อย” แม้จะถูกคั่นขวางด้วยการรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเป็นระยะๆ แม้กฎกติกาจำนวนหนึ่งจะได้รับการออกแบบมาเพื่อบิดผันเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่

นี่คือหนึ่งในมรดกที่มิอาจปฏิเสธได้ ซึ่งตกทอดมาจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475

Advertisement

มิฉะนั้นแล้ว คสช. คงสามารถปกครองประเทศไปได้เรื่อยๆ ในนามคณะรัฐประหาร โดยมีกองทัพเป็นฐานอำนาจสำคัญ

มิต้องแปรสภาพตนเองเป็นพรรคพลังประชารัฐ มิต้องพึ่งพาพรรคการเมือง-นักการเมืองหลายร้อยชีวิต มิต้องมี 250 ส.ว. คอยยกมืออยู่ในรัฐสภา

ไม่จำเป็นต้องเอาใจใส่ประชาชนตรงฐานราก ผ่านเงินช่วยเหลือจากโครงการรัฐต่างๆ

ทั้งยังไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญและพยายามเอาชนะ “การเลือกตั้งซ่อม” ในทุกๆ สนาม

แม้หลายฝ่ายจะรู้สึกว่า “ประชาธิปไตยไทย” ณ พ.ศ.นี้ ช่างเต็มไปด้วยภาวะมืดมิดหมดหวัง แต่กระทั่งฝ่ายที่อาจนิยม “ประชาธิปไตย” น้อยที่สุด ก็ยังต้องเลือกใช้ “ระบอบประชาธิปไตยกลายพันธุ์” เป็นเครื่องมือในการธำรงอำนาจของตนเอง

ในอนาคตข้างหน้า (หรืออนาคตอันใกล้) สังคมไทยยิ่งไม่อาจปฏิเสธ “ประชาธิปไตย”

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรดาเยาวชนรุ่นใหม่ต่างกระตือรือร้นทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการใฝ่ฝันถึง “ระบอบประชาธิปไตยอันพึงปรารถนา” ตามมาตรฐานของคนรุ่นเขา

แน่นอนว่า ไม่เร็วก็ช้า พลังแห่งความทะยานอยากข้างต้น คงต้องปะทะเข้ากับค่านิยม ความถวิลหา และ “ประชาธิปไตย” ในอีกรูปแบบหนึ่ง ของคนรุ่นเก่าบางส่วน

ณ สภาวการณ์แหลมคมเช่นนั้น “ประชาธิปไตยไทย” กำลังจะถูกนิยามใหม่บนความท้าทาย

อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายที่ร่วมรณรงค์ยื้อแย่งอำนาจในการนิยาม “ประชาธิปไตย” ล้วนต้องการแรงสนับสนุนสำคัญจาก “ประชาชน”

เนื่องจากความสำเร็จทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศของเราตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา (ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษต่อ “ระบอบประชาธิปไตย” ในระยะยาว) ต่างต้องอาศัย “ประชาชน” จำนวนมหาศาล เป็นพื้นฐานความชอบธรรมทั้งสิ้น

ไม่ว่า “ประชาชน” จะโง่เขลาหรือฉลาดหลักแหลม ไม่ว่าพวกเขาจะเห็นแก่ตัวหรือคำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนรวม

แต่ “พลังของประชาชน” มักเป็นปัจจัยหลักในการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือพิทักษ์รักษาบางสิ่งบางอย่างอยู่เสมอมา

การแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาชนหลักสิบล้านรายในโลกสมัยใหม่อันสลับซับซ้อน มีแนวโน้มจะต้องพึ่งพาอาศัยจุดแข็งของ “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ที่สามารถปลุกเร้าการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน และทำให้ผู้คนเชื่อมั่นว่าพวกเขาได้ลงมือกระทำการอะไรลงไปอย่างมี “สิทธิเลือก”

การถือครองอำนาจและการรณรงค์ทางการเมืองใดๆ ก็ตาม ที่ดำเนินไปบนวิถีทางอันห่างเหินจาก “ความเป็นประชาธิปไตย” มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

จะไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์และได้รับมอบความชอบธรรมอย่างล้นหลามจาก “ประชาชน”

 

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image