สถานีคิดเลขที่ 12 : ภารกิจหนักถัดจากนี้ : โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ภารกิจหนักถัดจากนี้ : โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ภารกิจหนักถัดจากนี้ : โดย ปราปต์ บุนปาน

พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำของรัฐบาลชุดปัจจุบัน คล้ายจะสามารถเคลียร์ปัญหาภายในของตนเองได้สำเร็จลุล่วง

ภายหลังการผงาดขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตนเป็น “พี่ใหญ่” และ “หัวหน้าพรรคอย่างไม่เป็นทางการ” มานานพอสมควร

นับจากนี้ บรรดาก๊ก-กลุ่มในพรรคพลังประชารัฐอาจสลายหายไป หรือถึงยังคงอยู่ ก็น่าจะเชื่อมประสานยึดโยงและทำงานร่วมกันได้อย่างเหนียวแน่นกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของบิ๊กป้อมคงจะควบคุมเกมการเมืองในสภาได้โดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมทั้งมีความได้เปรียบยามลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งทุกระดับ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อันเนื่องมาจากการมีศักยภาพบังคับควบคุมกลไกต่างๆ ของระบบราชการ

Advertisement

แน่นอน เร็วๆ นี้ คงมีการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อสร้าง “ความเป็นปึกแผ่น” ครั้งใหม่ และเขี่ยเสี้ยวส่วนของ “อดีต” ที่ถูกประวัติศาสตร์ใช้แล้วทิ้ง ให้หลุดลอยพ้นไป

ดูๆ ไปแล้ว “วันพรุ่งนี้” ของพรรคพลังประชารัฐในยุค พล.อ.ประวิตร จึงเหมือนจะมุ่งหน้าไปสู่ความรุ่งโรจน์-มั่นคง โดยปราศจากปัญหาทางการเมืองใดๆ เป็นอุปสรรคขัดขวางระหว่างทาง

อย่างไรก็ดี ในภาพกว้างกว่านั้น ยังมีปัญหาสำคัญๆ ที่ก่อตัวขึ้น อยู่นอกเหนือ “เขตอิทธิพล” ของพรรคพลังประชารัฐ

Advertisement

เมื่อทีมเศรษฐกิจ “สี่กุมาร” ถูกถอนยวงออกจาก ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คำถามที่ต้องคิดต่อ ก็คือ ใคร/บุคคลกลุ่มใดจะกล้าเสี่ยงเข้ามาทำงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ที่กำลังเสื่อมทรุดอย่างน่าวิตกกังวล ทั้งเพราะภาวะซึมตัวที่แสดงอาการออกมาพักใหญ่และการแพร่ระบาดของโควิด-19

หากพิจารณาจากตัวเลขล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งคาดการณ์ว่าจีดีพีในปี 2563 จะขยายตัวติดลบ 8.1 เปอร์เซ็นต์

เช่นเดียวกับตัวเลขการส่งออกที่จะขยายตัวติดลบ 10.3 เปอร์เซ็นต์ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะติดลบ 3.6 เปอร์เซ็นต์ และ 13.8 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดเหลือเพียง 8 ล้านคน จากคาดการณ์เดิม 15 ล้านคน

โดยมีแค่การลงทุนภาครัฐเท่านั้นที่จะขยายตัวเป็นบวก

ไม่นับรวมว่าถ้ามีคนกล้าหาญเข้ามารับหน้าเสื่อแล้ว คนเหล่านั้นจะทำงานได้สำเร็จหรือไม่? แค่ไหน?

เช่นเดียวกับการก้าวกระโดดจากการเป็นนักวิชาการมาสู่นักการเมืองเต็มตัว หรือจากโฆษกรัฐบาลไปสู่เก้าอี้รัฐมนตรีของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดผิดคาดอะไร

กระนั้น การวางตัว ดร.แหม่ม เป็นมือทำนโยบายเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ (แม้จะไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล) ก็ยังเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามและความไม่เชื่อมั่น-ไม่แน่ใจจากคนนอกพรรค

อีกหนึ่งประเด็นที่ควรใส่ใจ คือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอก “สถาบันการเมือง”

เมื่อกระแสแฟลชม็อบที่นำโดย “คนรุ่นใหม่” ที่เคยเงียบหายไประหว่างมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงไวรัสโคโรนาระบาด ได้กลับมาส่งเสียงอัน “ดัง” และ “แรง” ขึ้นอีกหนในเดือนมิถุนายน

แม้พรรคพลังประชารัฐจะคอนโทรลรัฐบาลและ “การเมืองในระบบ” ได้อยู่มือ แต่นั่นก็เป็นคนละเรื่องกับโลกอีกใบในโซเชียลมีเดีย

ไม่ว่าจะเป็นกระแสความเคลื่อนไหวที่จับไม่ค่อยได้ไล่ไม่ค่อยทันตามทวิตเตอร์ หรือปรากฏการณ์ที่อินฟลูเอนเซอร์บางราย มียอดผู้คลิกไลค์เพจลดกระหน่ำลงร่วมล้านคน หลังโพสต์ชื่นชมบิ๊กป้อม

จึงน่าตั้งคำถามว่า รัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐจะสามารถรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลง (ที่ยังไม่สิ้นสุดและไม่เคยหยุดนิ่ง) เหล่านี้ได้ไหวและเท่าทันหรือไม่?

คิดแล้วน่าเหนื่อยแทน

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image