สถานีคิดเลขที่ 12 : งบการเมือง : โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : งบการเมือง : โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : งบการเมือง : โดย จำลอง ดอกปิก

ฝ่ายค้านอภิปราย ตีแผ่ รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณมหาศาลในรอบหลายปีที่ผ่านมา
บิ๊กตู่ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่ใช้งบประมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์
20 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจกลับเติบโตน้อยมาก

ขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ก็เป็นการจัดงบแบบประเทศไม่มีวิกฤต ไม่ต่างจากงบประมาณปี 2563
จัดยาไม่ถูกโรค

ฟากฝ่ายรัฐบาล มีคำอธิบายจาก รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม

Advertisement

ไม่ปฏิเสธข้อเท็จจริง

ตรงข้ามกลับยอมรับว่า ถ้าว่าจริงมันก็จริง เพราะว่ารัฐบาลอยู่นาน เวลาพูดถึงรัฐบาลนี้ต้องย้อนไปตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 อยู่นานกว่าชุดอื่น ทำงานมากกว่าคนอื่น ต้องใช้เงิน รวมถึงต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งรัฐบาลอื่นไม่เคยเจอ

เมื่อต้องใช้เงินแก้ปัญหาโรคระบาด และเยียวยา ลดทอนผลกระทบ จะเอาเงินมาจากไหน

Advertisement

หากไม่กู้ ไม่ก่อหนี้

คำพูดรองนายกฯรับฟังได้ เข้าใจได้ เหตุใดงบประมาณถึงโป่งบวม 20 ล้านล้านบาท ในช่วงการบริหารของรัฐบาลที่มีบิ๊กตู่ ดำรงตำแหน่งนายกฯ และเหตุใดจึงต้องก่อหนี้ กู้ยืมเงิน

แต่ที่จริง ประเด็นที่ฝ่ายค้านทักท้วง ไม่ใช่จำนวนเม็ดเงิน

หากแต่เป็นดอกผล เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้จ่าย ลงทุนมหาศาลต่างหาก

เป็นเรื่องเดียวที่ต้องการชี้ให้เห็นถึงการจัดทำงบประมาณ 2564 กล่าวคือ หากจัดไม่สอดคล้องกับปัญหาประเทศแล้ว ก็ยากที่จะคาดหวังผลในการแก้ปัญหา ไม่ต่างกับการใช้งบโดยสูญเปล่า หรือให้ผลตอบแทนกลับคืนมาน้อยมาก

หากไม่เปลี่ยนแปลง ก็ยากที่จะหวังผล

ทุกอย่างก็จะออกมาแบบเดิมๆ คำตอบเดิมๆ เหมือนกับใช้ 20 ล้านล้านบาท

งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่รัฐบาลใช้ในการแก้ปัญหาบ้านเมือง และพัฒนา ยกระดับความเจริญประเทศ

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท

มีการเตรียมการ ยกร่าง จัดทำไว้ตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด

เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาไวรัสมรณะคุกคาม มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน รื้อร่างเดิม เนื่องจากสมมุติฐานต่างๆ เปลี่ยนไป พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ และรัฐบาลก็ได้รับปากเป็นมั่นเหมาะ

แต่จะด้วยเงื่อนเวลาอันจำกัด การล็อกการใช้ ผูกพัน สัญญา เงินมีเจ้าเข้าเจ้าของอยู่แล้ว การจัดทำอยู่ในระบบรัฐราชการก้าวไม่ทันต่อปัญหา หรือเหตุใดก็ตามแต่

การทบทวน ปรับเปลี่ยนที่รับปากไว้

กลับมองไม่เห็นข้อแตกต่างว่า ได้ทบทวนแล้ว

มีการปรับ เพียงเล็กๆ น้อยๆ ในระดับที่อาจเรียกว่า ไมเนอร์เชนจ์ ยังเป็นความแปลกต่างมากกว่าด้วยซ้ำ

เปลี่ยนเหมือนไม่เปลี่ยน อย่างที่ฝ่ายค้านอภิปราย ชี้ว่าไม่ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ ตลอดห้วงการพิจารณาในวาระรับหลักการ 3 วันที่ผ่านมา

การจัดทำงบประมาณ 64 มีแต่คำถาม

หากจบสิ้นมาตรการช่วยเหลือเยียวยา-ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแล้ว งบ 64 ที่ยังให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายไปกับอาวุธยุทโธปกรณ์ และงบอะไรต่อมิอะไรที่ไม่จำเป็นต่อประเทศในห้วงวิกฤต สามารถตัดได้แต่ยังอยู่ หรือลดลงเพียงเล็กน้อย

งบประมาณอย่างนี้นะหรือ จะเป็นเครื่องมือพยุง ต่อลมหายใจประเทศ

ที่จริง ร่างเดิมก่อนโควิดระบาด ควรต้องฉีกทิ้ง ร่างใหม่

ทบทวนยังไม่พอ

แต่ต้องทำขึ้น ร่างขึ้นอย่างเป็นฉบับพิเศษ และต้องให้ความสำคัญอย่างเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นฉบับแรกในการใช้เป็นเครื่องมือรับมือ-ต้านทาน ฝ่าฟันวิกฤตโควิด ซึ่งผลกระทบมิพักต้องพูดถึงอีกแล้วว่า ใหญ่หลวงแค่ไหน

เมื่อพูดถึงการจัดทำงบประมาณ ข้อติติง

ในสถานการณ์ปกติ นักวิชาการ-สภา จะกล่าวถึงไม่กี่เรื่อง เช่น การจัดทำสอดคล้องกับปัญหาสำคัญเร่งด่วนของประเทศหรือไม่ สอดรับกับทิศทางพัฒนา กระแสโลก กระแสใหม่หรือไม่ และการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ แค่นั้นไม่พอ

เนื่องจากโลกหลังโควิด เป็นอีกโลก ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตัวเอง

ต้องทุบทิ้งกรอบ การจัดทำงบประมาณแบบรัฐราชการ

ปฏิวัติการจัดทำงบประมาณใหม่

บนพื้นฐานวิสัยทัศน์ นวัตกรรมการบริหารประเทศแบบใหม่

แบบเดิมไปต่อไม่ได้ พิสูจน์แล้วแม้ในยามปกติ 20 ล้านล้าน ประเทศไทยได้ดอกผลกลับมามากน้อยแค่ไหน

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image