สถานีคิดเลขที่12 : บิ๊กตู่และโผ ครม. โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

สถานีคิดเลขที่12 : บิ๊กตู่และโผครม.

โฉมหน้ารัฐบาลหลังจาก ทีมของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ลาออกไป เริ่มปรากฏแล้ว

พรรคพลังประชารัฐ ลงประชุมพร้อมลงมติ ให้ส่งชื่อผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่ง รมต.ให้นายกฯพิจารณา

ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. รองนายกฯ ทาง พปชร. เสนอให้ควบเก้าอี้ รมว.มหาดไทยอีกตำแหน่ง เพื่อให้มาดูแลการเลือกตั้ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองหัวหน้าพรรค แกนนำคนสำคัญ ที่เป็น รมว.อุตสาหกรรม ให้เป็น รมว.พลังงาน

Advertisement

นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรค ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในการเลือกตั้ง มี.ค.2562 และมีการวางตัวให้เป็น รมต.แต่เกิดผิดพลาดไม่ได้รับตำแหน่ง เสนอให้เป็น รมว.อุตสาหกรรม แทนนายสุริยะ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี รองหัวหน้าพรรค เป็น รมว.แรงงาน และให้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาลและเหรัญญิกพรรค เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ

เมื่อเสนอชื่อไปแบบนี้ ทุกสายตาก็หันไปจ้องมอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะว่ายังไง

Advertisement

เพราะก่อนหน้านี้ นายกฯ พูดย้ำหลายครั้งหลายหนว่า การปรับ ครม.เป็นเรื่องของนายกฯ จะดำเนินการเอง แต่ก็รับว่าจะฟังเสียง ส.ส.ด้วย

พรรค พปชร.ก็คงอาศัยช่องที่ว่าจะรับฟังเสียง ส.ส.จัดทำโผนี้ เสนอไปยังนายกฯ

แต่ก็คงเสนอแบบลุ้นไปด้วย ว่านายกฯ จะโอเคหรือไม่โอเคกับชื่อไหน

อย่างการเสนอชื่อบิ๊กป้อมไปนั่งมหาดไทย ก็ถือว่าไปแตะโควต้านายกฯ ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่งอยู่ก่อนแล้ว

ซึ่งการทำงานที่ผ่านมา ถือว่าไปได้เรื่อยๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก ที่น่าสนใจ คือ เจ้ากระทรวงยังมีกำลังวังชา และเอาใจใส่ตอบรับข้อข้องใจต่างๆ ของ ส.ส.ในสภามาตลอด

จะเห็นว่าบิ๊กป้อมเอง มีท่าทีเชิงปฏิเสธเก้าอี้ มท.1 มาตลอด

อีกจุดที่เป็นปัญหา คือ การเสนอชื่อนายสุริยะ เป็น รมว.พลังงาน ซึ่งเป็น กระทรวงเศรษฐกิจที่นายกฯ ให้ความสำคัญ

เมื่อชื่อนายสุริยะปรากฏออกมา และไปเทียบเคียงกับคนที่นายกฯ ทาบทามไว้ คือ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตผู้บริหาร ปตท. อดีต รมช. คมนาคม

ต้องยอมรับว่า 2 ชื่อนี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่แตกต่าง

นายกฯ เองก็คงมองกรณีนี้ ไม่ต่างจากสังคมทั่วไป

เมื่อนายสุริยะจะต้องนั่งที่เดิม ก็เท่ากับโผที่จะให้นายอนุชา หรือเสี่ยแฮงค์ย้ายมาแทน ก็ไม่มีผล

ส่วนมติพรรคที่เสนอชื่อคนนั่ง รมว.แรงงาน ซึ่งเป็นโควต้าของพรรคร่วม ถ้าเจ้าของโควต้าไม่มีปัญหาก็อาจจะลงตัวได้ แต่ถ้าไม่ยินยอมพร้อมใจก็จบ

งานยากของนายกฯ คือ ต้องปรับ ครม.ให้ตอบโจทย์ปัญหาประเทศและแก้ปัญหาการเมืองในพรรคไปพร้อมกัน

สุดท้ายนายกฯ จะวางน้ำหนักไว้ที่ไหน ปัญหาประเทศ หรือการเมือง หรือจะผสมผสานกันยังไง เป็นปมประเด็นท้าทาย

ขณะที่ม็อบคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเห็นมิติใหม่ๆ ของการเมือง ก็ส่งเสียงดังมากขึ้นเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image