สถานีคิดเลขที่12 โดย จำลอง ดอกปิก : ยุบสภา-ทางออก!?

จะโดยสภาพบังคับ จำใจต้องรับเงื่อนไขพรรคประชาธิปัตย์ หรือเหตุใดก็ตาม

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้รับการบรรจุเป็น 1 ในนโยบายเร่งด่วน ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอยู่ในข้อที่ 12 การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

การศึกษาและการดำเนินการแก้ไข ตามการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 นั้น

ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

แม้ว่า ในท้ายที่สุด บทสรุป ไม่ผูกมัดรัฐบาล ให้ต้องดำเนินการตามกรรมาธิการฯก็ตาม

แต่ฝ่ายการเมืองเชื่อว่า รัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และกุมเสียงข้างมากในรัฐสภา เมื่อนับรวมกับเสียง ส.ว. 250 คน ที่ คสช.แต่งตั้ง จะยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ บางมาตรา เนื่องจากต้องรับผิดชอบนโยบาย ปฏิบัติตามเงื่อนไข มีทางลงให้กับประชาธิปัตย์

อีกทั้งยังเป็นการลดแรงกดดัน เสียงเรียกร้องภาคส่วนต่างๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์เนื้อหา ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล

ในระหว่างรอผลศึกษาจากคณะกรรมาธิการฯ และการตัดสินใจของรัฐบาล

ม็อบนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมตัวเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ชุมนุมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ จุดเริ่มต้นแก้ไข กลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนอีกครั้ง

กล่าวสำหรับ 3 ข้อเรียกร้องนั้น

ข้อแรก ยุบสภา คืนอำนาจประชาชน จับสัญญาณจากฝ่ายการเมือง นักวิชาการ รวมถึงผู้ติดตามข้อมูลข่าวสารใกล้ชิด ฟังได้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาเดิม

เนื่องจาก ผลเลือกตั้งไม่สะท้อน ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

เลือกใหม่ก็ได้รัฐบาลหน้าเก่า

แต่สนับสนุน แก้รัฐธรรมนูญให้เนื้อหาเป็นประชาธิปไตยก่อน จากนั้นค่อยยุบสภา คืนอำนาจประชาชน

เพราะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

รัฐบาลก็อยู่ได้ช่วงเวลาหนึ่งตามแต่ ข้อตกลงว่าจะใช้เวลาแก้เท่าใด ฝ่ายผู้ชุมนุม เคลื่อนไหวก็รับได้

เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย รวมถึงประชาชน

แต่นี่เป็นมุมมองของอีกฟากฝ่าย ไม่ใช่ของผู้นำ คุมอำนาจบริหาร ที่อาจเห็นว่า มาโดยชอบธรรมตามกติกา (ฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเรา) อีกทั้งยังเป็นผู้นำที่ไม่ชอบ การต่อรอง ให้ใครมาบีบบังคับ

เรื่องแก้อาจยอมได้บ้าง

แต่ถ้ารุกถึงขั้น รื้อทั้งฉบับ ฉีกทิ้งข้อได้เปรียบที่มี

ประเมินแล้ว รัฐบาลนี้คงไม่ยอม และอาจเลือกทางออกอื่น ในกรณีที่ไม่สามารถต้านทานแรงกดดันจากการชุมนุมได้

ไม่แน่นายกฯอาจเลือกยุบสภา ใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นทางออกแก้ปัญหาการเมืองก็ได้

เพื่อรักษาความได้เปรียบจากกติกาไว้

ทำไมต้องเลือกยุบสภา!

ไม่มีนายกฯคนไหนอยากยุบหรอก หากไม่เผชิญกับปัญหาการเมืองแก้ยาก

แต่เหตุที่เลือกใช้ทางออกนี้ เนื่องจากยุบแล้วจบ

โดยเฉพาะกรณีของบิ๊กตู่ จะเรียกว่าใช้แก้ได้สารพัดปัญหา ก็คงไม่เกินเลยนัก

ทั้งยกปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจากพิษโควิดออกจากอก ให้เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ พรรคการเมืองต่างๆ ที่จะเสนอนโยบายฟื้นฟู พลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

ประการสำคัญก็คือ เป็นการทำตามข้อเรียกร้องนักเรียน นิสิต นักศึกษา

ตัดเงื่อนไข ที่ใช้ชุมนุมเคลื่อนไหวออกไป

ใครไม่รักชอบ ศรัทธา ก็สามารถที่จะไปรณรงค์ มิให้เลือกบิ๊กตู่ พรรคที่สนับสนุนบิ๊กตู่ได้ ไปพร้อมๆ กับรณรงค์เลือกพรรคในปีกประชาธิปไตย ที่มี นโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชัดเจน

ยุบสภา จึงเป็นอีกทางออก ทางเลือกของนายกฯ ที่ไม่อาจมองข้ามได้

เนื่องจากไม่เพียง แสดงถึง การเปิดกว้างรับฟัง เสียงสะท้อนของคนที่คิดต่าง เห็นต่าง ยอมทำตามข้อเรียกร้อง ใช้กระบวนการในวิถีทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาเท่านั้น

หากแต่ หากชนะเลือกตั้งขึ้นมา ได้กลับมานั่งเก้าอี้นายกฯ กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

จะมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น

แม้ไม่อยากยอมรับ แต่ม็อบ แต่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่ว่าใคร ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง

การตัดสินโดยตรงโดยประชาชน!

หนามยอกเอาหนามบ่ง

ปฏิเสธไม่ยอมรับไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image