สถานีคิดเลขที่12 โดย จำลอง ดอกปิก : ‘บิ๊กตู่’โชว์!

การปรับ ครม.แทนตำแหน่งว่าง ปรากฏผลทางการ

7 รัฐมนตรี 9 ตำแหน่ง

เป็นที่ชัดเจนว่า ไม่มีรองนายกรัฐมนตรีคุมสายงานด้านเศรษฐกิจ ที่เรียกกันว่าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

เนื่องจาก การแต่งตั้งรัฐมนตรีควบรองนายกฯเพิ่มอีก 2 คน คือ ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และรัฐมนตรีป้ายแดง สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รมว.พลังงานนั้น

Advertisement

คนแรก นายกฯชี้แจงเหตุผลตั้งเป็นรองฯชัดแล้ว

ขณะที่สุพัฒนพงษ์ น่าเชื่อว่าเป็นเหตุผลบางประการ และเพื่อช่วยผ่อนภาระงาน ในตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ปัจจุบันนายกฯเป็นประธาน

หากแต่ต่อไป ‘บิ๊กตู่’ ต้องเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง

Advertisement

แบกรับงานมากไป

อีกทั้งไม่เคยมีรัฐบาลใด ตั้งรองนายกฯที่ควบพลังงาน เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

หากจะใช้บริการผู้นั่งควบ

มักใช้รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญเป็นหลัก

ฉะนั้น เมื่อครั้งนี้ ปรีดี ดาวฉาย นั่งขุนคลังเก้าอี้เดียว สุพัฒนพงษ์ก็ไม่ใช่ ผิดฝา ผิดตัวมาจากกระทรวงเล็กกว่า

จึงเท่ากับ ไม่มีรองนายกฯที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (จะ) เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง ตามที่ได้ยืนยันระหว่างเดินสายพบปะสื่อสิ่งพิมพ์ก่อนหน้านี้

ทำนองว่า ไม่จำเป็นต้องมี เนื่องจากที่จริงนายกฯก็เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอยู่แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์นั่งเก้าอี้นายกฯภายหลังรัฐประหาร ในยุครัฐบาล คสช. มี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

รัฐบาลผสมที่มี พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง

จำเป็นยกเก้าอี้ กระทรวงเศรษฐกิจอย่างน้อย 3 กระทรวงให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยเหตุผลการเมือง

แม้สมคิดกลับมานั่งรองนายกฯอีกครั้ง แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้กำกับงานกระทรวงเศรษฐกิจในสายของพรรคร่วม ที่มีรองนายกฯของแต่ละพรรคนั่งคุมเอง

หากปรับ ครม.ครั้งนี้ นายกฯตั้งใครคนใดคนหนึ่ง นั่งรองนายกฯ เป็นมือคุม บูรณาการงานด้านเศรษฐกิจ

ก็คงทำอะไรได้ไม่มาก

เนื่องจากกระทรวงเศรษฐกิจ ไม่ได้อยู่ในมือรัฐบาล (พลังประชารัฐ) ทั้งหมด

การตั้งหรือไม่ตั้ง อาจมีค่าเท่ากัน ในเชิงการบริหาร

การตั้งหรือไม่ตั้ง อาจมีค่าเท่ากัน ในทางการเมือง เพราะแม้จะเป็นกันชนได้ระดับหนึ่ง หากแต่ทว่า สุดท้ายผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ความสำเร็จ ล้มเหลว ย่อมเป็นนายกฯอยู่ดี

การตัดสินใจเลิกใช้บริการหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่เป็นเอง

จึงเป็นเรื่องวิธีคิด วิธีบริหารอย่างหนึ่ง ซึ่งมีข้อดีก็มีอยู่ จากอำนาจนายกรัฐมนตรีมีสูงสุด เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารทุกกระทรวง

ในเชิงบริหารจัดการ ดีกว่ามอบอำนาจให้รองนายกฯ ที่สั่งอะไรอาจไม่เป็นที่สุด เหมือนกับนายกฯที่ทุกพรรคต้องฟัง รับปฏิบัติตาม

ส่วนเรื่องที่ผู้คนห่วงใย นายกฯไม่เชี่ยวชาญ เจนจัดด้านเศรษฐกิจนั้น

อาจเป็นข้อด้อยก็จริง แต่แก้ไขได้ด้วยการรับฟังที่ปรึกษาที่มีอยู่จำนวนมากทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ รวมถึงภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักการธนาคาร สมาคมตัวแทนอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น แล้วนำข้อมูลนั้นมาประมวลผล ตัดสินใจ ในเรื่องที่จะออกนโยบาย มาตรการ การแก้ไขปัญหา

นายกฯอาจไม่จำเป็นต้องรู้ดีทุกเรื่อง หากแต่ที่สำคัญคือ ต้องรู้วิธีบริหาร

การที่บิ๊กตู่ตัดสินใจเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง ถือว่าเป็นเรื่องดี เนื่องจากส่งสัญญาณว่าเป็นการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ที่วิกฤตที่สุด

แต่การที่เครื่องหมายการค้า ‘บิ๊กตู่’ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ

อีกทั้งเรื่องการเปิดกว้างรับฟังผู้อื่น เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจ ก็ไม่ใช่บุคลิกของนายกฯ อดีต ผบ.ทบ. หัวหน้า คสช. ที่ถนัดแต่ออกคำสั่ง

เติบโตมาในระบบบังคับบัญชา ต้องฟังนาย

เมื่อ ‘บิ๊กตู่’ เป็นถึงซุปเปอร์นาย การตัดสินใจเป็นแม่ทัพใหญ่คุมเศรษฐกิจเอง จึงน่าสนใจทั้งวิธีการบริหาร และผลจากการตัดสินใจครั้งนี้

การตัดสินใจที่ส่งผลได้-ผลเสีย ต่ออนาคตต่อการดำรงคงอยู่ของรัฐบาลโดยตรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image