สถานีคิดเลขที่12 โดย จำลอง ดอกปิก : ลิงหลอกเจ้า

การปรับแผน ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลด้านลบ ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

เดิมนายกรัฐมนตรีระบุ ไม่ขัดข้องต่อเสียงเรียกร้องแก้ไข และมีจุดยืนสนับสนุน

ถึงขั้นประกาศ รัฐบาลเตรียมยื่นร่างของรัฐบาลส่งประกบ

ร่างของรัฐบาล ที่หมายถึง มาจากคณะรัฐมนตรี อันเป็น 1 ใน 4 ช่องทางยื่น ขอแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 256

Advertisement

ผลด้านลบที่ว่า คืออาจไม่ประสบความสำเร็จ

ล้มคว่ำกลางรัฐสภา

ทั้งนี้เนื่องจาก หากรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพ เปอร์เซ็นต์แก้ไขสำเร็จมีแนวโน้มสูงมาก

Advertisement

ไม่เพียงแต่ เสียงของฝ่ายรัฐบาล เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และฝ่ายค้านเองก็สนับสนุนให้มีการแก้ไขเท่านั้น หากแต่สมาชิกวุฒิสภา 250 คน อันประกอบกันเข้า เป็นองค์ประกอบการประชุมรัฐสภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ที่มาชัดเจน มาจากการเสนอ แต่งตั้งของ คสช. แม้แบ่งออกเป็น 2 ล็อก คือคณะกรรมการสรรหาคัดเลือก 194 คน (ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร.:6 คน) กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งอีก 50 คนก็ตาม

แต่ก็เป็นกระบวนการปิด ของการเลือกมือไม้ใช้งานที่เปิดเผย

จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่หาก ครม.เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ต้องพึ่งพาเสียง ส.ว.แค่ 84 คนเท่านั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่สามารถกดปุ่ม ประสาน ส.ว. มายกมือสนับสนุนได้

แต่ทันทีที่บิ๊กตู่เปลี่ยนใจ ไม่เสนอร่างฉบับ ครม.

ปล่อยแต่ละพรรคดำเนินการเอง และวิปพรรคร่วมรัฐบาล มีมติ ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ร่างใหม่

ความไม่แน่นอน เกิดขึ้นตามมาทันที

เมื่อเจ้าภาพเปลี่ยน

ส.ว.ที่ตั้งป้อมขวางรื้อ มาตรา 265 อยู่แล้ว ไล่มาตั้งแต่ระดับประธาน พรเพชร วิชิตชลชัย จนถึงสมาชิกธรรมดา ใครต่อใครอาจไม่เกรงใจ

ไม่พิจารณา ด้วยเหตุและผล บนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตยว่า แท้จริงแล้ว เนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสมควรได้รับการแก้ไขหรือไม่

แต่พร้อมยกมือสวน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นทางลง ทางออก ของรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาการชุมนุมการเมืองปัจจุบัน

กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ยื่นเงื่อนไข ข้อเรียกร้อง 3 ประการ หัวใจสำคัญคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้รับการบรรจุเป็นนโยบายหลักข้อ 12 ของรัฐบาล

เมื่อเป็นนโยบายรัฐบาล หากรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพเอง ย่อมเป็นหลักประกันอันมั่นคง

ว่าจะสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย

ต่างกับปล่อยตามยถากรรม ให้เป็นเรื่องของพรรคการเมือง เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ

รัฐบาลไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก

แต่ที่ยอมบรรจุเป็นนโยบาย เนื่องจาก จำต้องรับเงื่อนไข ต่อรองแลกเปลี่ยนการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์

ที่ต้องถอยร่น ระหว่างรอผลศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ถึงขั้นประกาศจุดยืน สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะม็อบรุกหนัก ตั้งข้อเรียกร้อง

การเปลี่ยนใจ ไม่ยื่นร่างเอง สะท้อนภาพลึกๆ รัฐบาลต้องการรักษารัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเราไว้

แต่ก็เปิดรูระบายลดแรงกดดันเสียง เรียกร้อง ด้วยการให้พรรคร่วมดำเนินการ

การยืมมือ ใช้พรรคร่วม เป็นผลดีต่อรัฐบาลอย่างมิต้องสงสัย

กล่าวคือ ไม่ผูกมัดให้ต้องรับผิดชอบ หากแก้ไขไม่สำเร็จ

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีไพ่เล่นหลายใบมากขึ้น

จะกดปุ่มไฟเขียว แตะเบรก เทกโอเวอร์ หยิบใช้ใบไหนก็ได้

แต่ลอยตัวก็ไม่ง่าย

เกมนี้ ‘บิ๊กตู่’ ไม่ใช่ผู้บัญชาการเกม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image