สถานีคิดเลขที่12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร : เรือแจวเทียบท่าไหน

ยังไม่รู้ว่า กรรมาธิการวิสามัญ พิจารณางบฯ ปี 2563

จะมีแรงฮึด “แจวเรือ” ไปซื้อ “เรือดำน้ำ” ถึงท่า “จีน” สำเร็จหรือไม่

แต่ใครๆ ก็ว่า ท่าที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล่าสุด

ที่กล่าวพาดพิงถึง “แผนสอง” ในการจัดหาเรือดำน้ำให้ราชนาวีไทยนั้น

Advertisement

ทำให้เกิดการคาดหมายว่า มีแนวโน้มที่เรือแจวอาจจะแวะ “ท่า” กลางทาง

หลบกระแส มรสุมการเมือง-เศรษฐกิจ ก่อน

รอให้มีเรี่ยวมีแรง จากพิษโควิด-19 แล้วค่อยมุ่งไปเทียบท่าเรือดำน้ำจีน

Advertisement

ซึ่งถ้าแนวโน้มเป็นเช่นนี้

ทางออกที่จะเป็น คือ ไทยคงต้องเจรจากับจีน เลื่อนการจ่ายเงินไปอีกปี

แม้กองทัพเรือห่วงว่าอาจทำให้จีนไม่พอใจ และกระทบความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ

แต่ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลไทยเห็นว่า คลื่นลมไม่สงบ เรือแจวไม่ควรออกจากฝั่ง

ก็ไม่เสียหายที่จะไปเจรจา

เพราะจีนก็ย่อมรู้ดีว่า ผลกระทบจากพิษโควิด-19 มันรุนแรงเพียงใด

และจีนเองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด ก็น่าจะเห็นใจประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าเช่นกัน

และที่สำคัญ สำหรับไทยไม่ใช่พิษเศรษฐกิจเท่านั้น

แต่มีวิกฤตการเมืองเข้ามาแทรกด้วย

จนอาจจะชี้อนาคตรัฐบาลปัจจุบัน จะอยู่หรือไปเลยทีเดียว

มีเหตุมีผลขนาดนี้ พี่ใหญ่จีน น่าจะเห็นใจ

คงไม่เคืองรุนแรงถึงขนาดจะเลิกขายเรือดำน้ำให้ไทย

เพราะว่าไป เรื่องเรือดำน้ำเป็นประโยชน์ต่อจีนไม่แพ้ไทย หรืออาจจะได้ประโยชน์มากกว่าไทยเสียอีก

ต้องไม่ลืมว่า การได้ไทยเป็นลูกค้า มิใช่มีแต่เรื่องกำไรเท่านั้น

หากแต่เกี่ยวโยงการเมืองระดับภูมิภาค และระดับโลกด้วย

ไม่ต้องดูอื่นไกล

ไปดูเรือดำน้ำของประเทศอาเซียน ที่แข่งขันกันเอาเป็นเอาตายอยู่ตอนนี้

สิงคโปร์เลือกใช้เรือดำน้ำจากสวีเดน 4 ลำ และกำลังซื้อจากเยอรมนี 2 ลำ

อินโดนีเซียใช้เรือดำน้ำเยอรมัน 2 ลำ ต่อเองโดยใช้เทคโนโลยีจากเกาหลีใต้ 3 ลำ และวางแผนจะต่อเองอีก 9 ลำภายใต้ลิขสิทธิ์ของเกาหลีใต้ เช่นกัน

มาเลเซียใช้เรือดำน้ำที่ต่อในประเทศฝรั่งเศส และสเปน

เวียดนามใช้เรือดำจากรัสเซีย จำนวน 6 ลำ

เมียนมาใช้เรือดำน้ำจากอินเดีย จำนวน 1 ลำ

ฟิลิปปินส์กำลังจัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ โดยเจรจากับฝรั่งเศส

ไม่มีประเทศไหนใช้เรือดำน้ำจากจีนเลย

เหตุผลอย่างที่ทราบกัน

ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ หมู่เกาะพาราเซล หมู่เกาะปะการัง สการ์โบโรห์ โชล ฯลฯ ในทะเลจีนใต้ กับจีนทั้งสิ้น

แล้วใครจะใช้ยุทโธปกรณ์กับประเทศคู่พิพาท

จีนจึงค่อนข้างโดดเดี่ยวในอาเซียน โดยเฉพาะในกรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้

การมีไทยซึ่งเป็นเสาหลักในอาเซียนเป็นมิตร

และที่สำคัญ ยังต้องอยู่ใต้อิทธิพลจีนเพราะต้องผูกพัน พึ่งพิงเป็นลูกค้าอะไหล่ เทคโนโลยี การบำรุงรักษา อีกยาวนานร่วม 10-20 ปี

จึงเป็นผลดีอย่างยิ่งกับจีน

เผลอๆ จีนอาจชวนไทยซ้อมรบทางทะเล เพราะมีเรือดำน้ำแบบเดียวกันในทะเลจีนใต้อีก

ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง เช่นนี้ จีนต้องรักษาลูกค้าไทยเอาไว้อย่างดี ไม่ควรให้หลุดรอดไปไหน

ด้วยเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยเช่นนี้

การเจรจากับจีนจึงไม่น่ายาก

และน่าจะช่วยซื้อเวลาเพื่อดับไฟในบ้านก่อน

แต่คำถามก็คือ กองทัพเรือ รัฐบาล กมธ.งบฯ จะแลเห็นทางออกนี้หรือเปล่า

หรือคิดอย่างเดียว ต้องเอาให้ได้

อย่างนั้นก็แจวเรือไปซื้อเรือดำน้ำตามสบาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image