สถานีคิดเลขที่ 12 : นักเรียนเลว : โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : นักเรียนเลว : โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : นักเรียนเลว : โดย ปราปต์ บุนปาน

คณะเยาวชนวัยมัธยมศึกษาที่เรียกขานตนเองว่า “นักเรียนเลว” และเครือข่ายเพื่อนนักเรียนทั่วประเทศอีก 50 กลุ่ม ออกมาชุมนุมใหญ่หน้ากระทรวงศึกษาธิการเป็นครั้งที่สอง ในวันที่ 5 กันยายน 2563

“นักเรียนเลว” อาจมีความเชื่อมโยงกับ “คณะประชาชนปลดแอก” อยู่บ้าง เพราะแกนนำบางส่วนเคยขึ้นเวทีปราศรัยหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็มีสมาชิกของ “คณะประชาชนปลดแอก” เข้ามาร่วมชุมนุมและอำนวยความสะดวกให้น้องๆ มัธยม ที่หน้ากระทรวงศึกษาฯ

นอกจากนั้น ทั้งสองกลุ่มยังอาจมีลักษณะร่วมกันในทางอุดมการณ์ หากประเมินจากหนังสือหลายๆ เล่ม ที่ “นักเรียนเลว” หลายคนชูขึ้นระหว่างการชุมนุม (ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กๆ มัธยมจำนวนมากในยุคนี้ อ่านหนังสือกันอย่างเข้มข้นจริงจัง และอาจลึกซึ้งกว่าผู้ใหญ่วัย 40-50 ปีขึ้นไป)

อย่างไรก็ดี กลุ่ม “นักเรียนเลว” นั้นมีเป้าหมายชัดเจนเฉพาะของตัวเอง โดยข้อเรียกร้องหลักของพวกเขาล้วนเน้นหนักไปยังปัญหาภายในระบบการศึกษา ไม่ได้มุ่งวิพากษ์-ปฏิรูปโครงสร้างรัฐในภาพรวมดังเช่น “คณะประชาชนปลดแอก”

Advertisement

การอภิปรายปราศรัยบนเวทีหน้ากระทรวงศึกษาธิการจึงกินขอบเขตตั้งแต่ปัญหาเรื่องการลงโทษ-ข่มขู่คุกคามในโรงเรียน, กฎระเบียบที่ไม่จำเป็นอีกแล้วในปัจจุบัน เช่น ทรงผมและเครื่องแบบ ไปจนถึงเรื่องคุณภาพการจัดการศึกษาและหลักสูตรการเรียนรู้ที่ไม่สนองตอบต่อเยาวชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันและไม่สอดคล้องกับยุคสมัย

พร้อมๆ กับที่มีการเชิญตัวแทนครูและตัวแทนผู้ปกครองขึ้นมาร่วมแสดงความเห็นบนเวทีด้วย

ไฮไลต์สำคัญของการชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา คงอยู่ที่การดีเบต/แลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างตัวแทนกลุ่ม “นักเรียนเลว” กับ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ

(แม้รัฐมนตรีจะเคยนำม็อบที่ปูทางไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนและการรัฐประหารโดยกองทัพมาแล้ว แต่คงนึกไม่ถึงว่าในวันที่ตนเองได้มานั่งว่าการกระทรวงศึกษาธิการ -ซึ่งไม่ควรเป็นสมรภูมิแห่งความขัดแย้งทางการเมืองอันดับต้นๆ- จะมีม็อบนักเรียนที่ใหญ่และกว้างขวางที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายทศวรรษ ผุดขึ้นมาเป่านกหวีด-ชูสามนิ้วเคารพเพลงชาติอยู่ต่อหน้า ท่ามกลางวิกฤตการศึกษา วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสังคม และวิกฤตการเมืองที่กำลังรุมเร้าประเทศ)

ถ้าใครนั่งชมการดีเบตดังกล่าวด้วยจิตใจที่เป็นธรรม ก็คงจะรู้สึกหรือพอประเมินได้ว่า นี่คือการปะทะกันระหว่างคนหนุ่มสาวที่ยังเปี่ยมจินตนาการ ความคิดฝัน และมีความหวังถึงสังคมที่ดีกว่าเดิม กับผู้ครอบครองอำนาจที่มีจินตนาการลีบเรียว และมีกรอบความคิดที่ติดขัดตีบตันอยู่ในระบบราชการแบบเก่า

นี่คือการเผชิญหน้ากันระหว่าง “นักเรียนเลว” ซึ่งมีไอเดียความคิดและชุดข้อมูลปัญหาต่างๆ ที่ “ดี” กับตัวแทนอำนาจรัฐ/รัฐบาลที่ “ล้มเหลว”

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความเจริญงอกงามชนิดใหม่ที่อุบัติขึ้นบนโครงสร้างดั้งเดิมอันชำรุดผุพังลงเรื่อยๆ

ในขณะที่อนาคตของ “สังคม/ประเทศ/ชาติ” ยังเต็มไปด้วยคลุมเครือและไม่แน่นอน

เพราะนอกจากเราจะมีโรงเรียน-สถานศึกษาที่แปลกแยกกับเยาวชนคนรุ่นใหม่มากขึ้นทุกวันแล้ว

เรายังมีปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในระดับฐานรากมายาวนาน ก่อนจะถูกซ้ำเติมด้วยโรคระบาดใหญ่ระดับโลก และล่าสุด รมว.คลังคนใหม่ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหลัง “ทำงาน” ได้ไม่ถึงเดือน

เรายังมีรัฐธรรมนูญที่จำเป็นจะต้องถูกแก้ไข แต่ยังไม่แน่นอนชัดเจนว่าควรแก้ด้วยวิธีการแบบใดและมีขอบเขตแค่ไหน

เรายังถกเถียงพูดคุยถึงปัญหาอื่นๆ อีกมากมายหลายประเด็น ซึ่งมีทั้งสภาพปัญหาและผู้บ่งชี้ปัญหา แต่ยังขาดแนวทางแก้ไขปัญหาที่สมาชิกในสังคมส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image