สถานีคิดเลขที่12 : ใบสั่ง!?

คําเฉลยล่าสุด ต่อประเด็นร้อน แก้รัฐธรรมนูญ จากปากวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

รัฐมนตรีพลเรือนที่ได้ชื่อว่า ใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีมากคนหนึ่ง ไม่มีระยะห่าง ถึงขั้นต้องระมัดระวังคำพูดจา คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ส่งซิกต่อแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ให้โหวตสนับสนุน ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใดๆ ทั้งนั้น

ในฐานะนั่งอยู่ในที่เกิดเหตุ

รองนายกฯมือกฎหมายระบุว่า วันนั้น ก็ไม่ใช่การประชุมด้วยซ้ำไป แต่เป็นการพูดคุยกันธรรมดา เหมือนก่อนการประชุม ครม.ทุกครั้ง

Advertisement

วงที่ถูกอ้างถึงในวันนั้น มีเลขาฯสภาพัฒน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยอยู่ด้วย มีการพูดถึงเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจและหลายเรื่องที่สภาพัฒน์ต้องจัดการ

และมีการพูดถึงเรื่องปัญหารัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกฯปรารภขึ้นมาว่า ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลได้ลงชื่อกันไปจำนวนมากกว่า 200 คน เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อเสนอแล้วก็ต้องเข็นต่อไป จะไปกลับลำได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่นายกฯพูด และทุกพรรคก็เห็นด้วย…ž

วิษณุ เครืองาม คนอยู่ในจุดเกิดเหตุยืนยัน

Advertisement

การพูดต่อหน้า หัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันเสนอต่อสภา ที่ว่าเมื่อเสนอแล้วก็ต้องเข็นต่อไป จะไปกลับลำได้อย่างไร

ไม่ว่าจะเรียกตามภาษา หัวข่าว ที่ต้องสั้น กระชับ ได้ใจความ สื่อสารได้เบ็ดเสร็จว่า เป็นการส่งซิก

หรือมองว่า ไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ทั้งนั้น

ถือว่า ไม่ผิด บิดเบือนข้อเท็จจริงทั้งสิ้น

คนใน บรรดารัฐมนตรีอาจมองว่า เป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับสื่อ และประชาชนทั่วไปอาจมองต่าง

นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา

เนื่องจาก นับแต่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเสนอญัตติต่อสภา นายกฯมิได้แถลงท่าที แสดงจุดยืนเรื่องนี้ต่อสาธารณะ นอกจากบอกว่า เป็นกระบวนการในสภา ไม่มีความเห็นอะไร เพราะเป็นเรื่องของทางรัฐสภา

ทั้งที่เป็นเรื่องของ กระบวนการในรัฐสภาก็จริง

แต่ก็เป็น นโยบายรัฐบาล

ที่เมื่อเสนอแล้วก็ต้องเข็นต่อไป จะไปกลับลำได้อย่างไร

แต่ผู้นำรัฐบาล ไม่เคยพูด หรือให้คำมั่นต่อสาธารณะ

ฉะนั้นเมื่อพูด ผู้คนจึงสนใจ

แม้จัดชั้นเป็นเรื่องธรรมดาก็ตาม

แต่นี่เป็นเรื่องธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา

ไม่ธรรมดาอย่างไร เชื่อว่า ผู้ที่ติดตาม ข้อมูลข่าวสาร เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิดแต่แรก กระทั่งมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา 6 ญัตติแก้ไขรู้ดี

วาระนี้พิเศษ ไม่ธรรมดา

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิษณุ เครืองาม ถ่ายทอดคำพูดนายกฯ ก็ทำให้สังคมใจชื้นยิ่งขึ้น

มีความหวังมากขึ้น

เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องใดก็ตาม เมื่อบรรจุเป็นนโยบาย รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ผลักดันให้สำเร็จลุล่วง

รัฐบาลกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งฝ่ายค้านก็สนับสนุนให้มีการแก้ไข

เรื่องรัฐธรรมนูญจึงไม่เหลือบ่ากว่าแรง

เสียงสภาล่างจบ ไม่เป็นปัญหา แต่ติดเสียงวุฒิสภาเท่านั้น ที่ประกอบเข้ากันเป็น องค์ประชุม เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติม ที่ต้องกระทำในรัฐสภาทั้ง 3 วาระ

มองจากที่มา การขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.แค่ 84 เสียง จากจำนวนเต็ม 250 ไม่ยาก แน่นอน

มองจากเหตุผล ความเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ต้องรับผิดชอบ ผลักดันให้สำเร็จ

ก็ยิ่งง่ายและชอบธรรม

ในการที่รัฐบาลจะประสานพูดคุย โน้มน้าว ส.ว.ให้ยินยอม ลงมติเห็นชอบ

ที่ผ่านมา ไม่เคยมีกฎหมาย ที่รัฐบาลผลักดันแม้ฉบับเดียว ที่ ส.ว.คัดค้านตีตก

ในทางตรงข้ามกลับยกมือสนับสนุนพึ่บพั่บ ให้ทุกเครื่องมือที่ต้องการ

หรือว่าแท้ที่จริง กรณีแก้รัฐธรรมนูญรัฐบาลยืมมือ ส.ว. เก็บเครื่องทุ่นแรงเอาไว้

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image