สถานีคิดเลขที่12 : ประชามติ‘ธันวาคม’!

รัฐบาลปักธง เลือกตั้งนายกและสมาชิก อบจ.เป็นสนามแรก

เป็นที่ชัดเจนแล้ว ปลายปีนี้ ไม่วันที่ 13 ก็ 20 ธันวาคม มีการเลือกตั้งนายกและสมาชิก อบจ. 76 แห่งทั่วประเทศแน่นอน

(ยกเว้นเกิดอุบัติเหตุการเมืองใหญ่)

นายกและสมาชิก อบจ.เป็นหนึ่งในผู้บริหารสภาท้องถิ่น-สมาชิกสภาท้องถิ่น ที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 8 พันแห่ง

Advertisement

ทั้ง 8 พันแห่งนี้ สมาชิกอยู่ในตำหน่งครบเทอมแล้ว

แต่มีคำสั่ง คสช. ประกาศ คสช. ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

การจัดเลือกตั้งจึงเท่ากับปลดล็อกการแช่แข็งปิดตายเลือกตั้งมา 6 ปีเต็ม นับแต่รัฐประหาร พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

Advertisement

เป็น 6 ปี ที่การเมืองเปลี่ยนไปมาก

ว่ากันว่า เป็นศักราชใหม่ การถ่ายเลือด เปลี่ยนรุ่นครั้งใหญ่

คนเจเนอเรชั่นใหม่รุกคืบ เข้ามามีบทบาทยึดพื้นที่การเมืองมากขึ้น

รูปธรรมจับต้องได้ คือผลการเลือกตั้งทั่วไป

ดังนั้น การเลือกตั้งนายกและสมาชิก อบจ.จึงได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ

ผลการเลือกตั้งจะเปลี่ยนหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ทั้งนิวโหวตเตอร์ และรุ่นอื่น จะตัดสินเลือกผู้เป็นตัวแทนปากเสียงจากพื้นฐานใด

ปกติแล้ว การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นแตกต่างกับระดับชาติ

กล่าวคือ ในระดับท้องถิ่น ประชาชนมัก ‘เลือกตัวบุคคล’ ผู้สมัครที่มีความใกล้ชิด มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในพื้นที่เป็นหลัก นโยบายเป็นด้านรอง

กลับหัวกลับหางกับการเลือกตั้ง ส.ส.

ที่เลือกให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง เลือกจากนโยบายเป็นหลัก

ตัวอย่างในอดีต คือเพื่อไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งใช้ชื่อไทยรักไทย ปัจจุบัน การเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 คือพรรคอนาคตใหม่

ผู้สมัครที่กลายเป็น ส.ส.ในวันนี้ ล้วนแต่เป็นหน้าใหม่ของวงการ ที่มิใช่บุคคลมีชื่อเสียง

เนื่องจากประชาชนเลือกจากนโยบาย

มิใช่เลือกตัวบุคคล

ความน่าสนใจเป็นที่ยิ่ง สนามแรกเลือกตั้งท้องถิ่นเดือนธันวาคมนี้ ก็คือ ผลเลือกตั้งจะออกมาในทิศทางเดียวกับการเลือกตั้งระดับชาติหรือไม่

มีสัดส่วนเลือดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

การโชว์บทบาทการทำงานในสภาของ ส.ส.วัยใส การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา นอกสภา มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียง

ถึงขั้นสั่นสะเทือนการเมืองท้องถิ่น มากน้อยเพียงใด

กล่าวในส่วนของผู้เล่น

มีความพยายามเปลี่ยนภูมิทัศน์การเลือกตั้งท้องถิ่น ให้ตัดสินใจเลือกจากนโยบายมากขึ้น พรรคการเมืองบางพรรค หรือคณะการเมือง หยิบยกเรื่องที่ในอดีตมองข้าม มาเป็นหัวข้อหลักสื่อสารกับประชาชน โดยนำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรม การจัดสรรงบประมาณพัฒนาจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่เสนอแต่ตัวบุคคล

เรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นการแก้เกมเรื่องคะแนนนิยมส่วนบุคคล หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม

แต่ถือเป็นเรื่องดีที่ต้องสนับสนุน พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หรือผู้สมัครอิสระ ให้แข่งขันกันนำเสนอนโยบายเพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

แข่งขันเชิงคุณภาพ

ยกระดับใกล้เคียง หรือเทียบเท่าระดับชาติ

การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเป็นเครื่องวัดคุณภาพประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น

วัดความสนใจของประชาชนต่อการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ผ่านการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

แต่ครั้งนี้ อาจวัดอะไรที่มีค่ามากไปกว่านั้น

ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่เชื่อมร้อยประเทศไทยเข้าด้วยกัน ไม่มีพรมแดน แยกท้องถิ่น สันปันน้ำแบ่งชนบท ตัดขาดเมืองกรุง หรือแม้แต่โลกภายนอกออกจากกัน

นอกจากวัดคุณภาพประชาธิปไตย ยังเป็นการวัดอิทธิพลเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่

มหกรรมหยั่งเสียงประชาชนทั้งประเทศครั้งใหญ่ในเดือนธันวาคมปีนี้ จึงมิได้เป็นเพียงแค่การเลือกตั้งท้องถิ่นธรรมดาอย่างที่เคยเป็นมา

หากแต่อาจร้อยการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติเข้าด้วยกัน

เป็นประเด็นการต่อสู้เรื่องเดียวกัน เป็นประชามติแฝงที่มีพลัง

ก้องดังจากท้องถิ่น สะเทือนถึงกรุง

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image