สถานีคิดเลขที่12 : 14 ตุลาฯปีนี้

หลายคนคงไม่พลาดที่จะติดตามการชุมนุม 14 ตุลาฯ ที่เพิ่งผ่านไป

สื่อต่างๆ ทั้งทีวี และสื่อออนไลน์ เกาะติดเหตุการณ์และรายงานอย่างละเอียด มีการถ่ายทอดสดทางโซเชียลมีเดีย ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิด

มีความแตกต่างมากมาย ระหว่างม็อบที่ผ่านๆ มา กับม็อบชุดนี้ ที่เริ่มจากการชุมนุมแบบเร็วๆ หรือแฟลชม็อบของเยาวชน นักเรียนนักศึกษา

การเลือกวันชุมนุม 14 ตุลาฯ ซึ่งตรงกับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญเมื่อปี 2516 หรือ 47 ปีก่อน ก็มีนัยยะสำคัญ

Advertisement

อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เกิดคำถามว่า 47 ปี หรือเกือบ 5 ทศวรรษ ผ่านไป ลูกหลานเหลนของประชาชนเมื่อ 47 ปีก่อน ยังต้องมาทำภารกิจเดียวกับที่รุ่นพ่อรุ่นลุงเคยกระทำมาก่อนอีกหรือ

การชุมนุมเมื่อ 47 ปีก่อน คือเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เรียกร้องประชาธิปไตย หลังจากที่จอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง เมื่อปี 2514

เริ่มจากการแจกใบปลิว ตำรวจจับกุม เกิดการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว บานปลายเป็นการปราบปรามด้วยอาวุธสงคราม ถึงขนาดใช้เฮลิคอปเตอร์บินกราดยิงประชาชน

Advertisement

การชุมนุม 14 ตุลาฯ มีผู้เสียชีวิต 77 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก เป็นบาดแผลและบทเรียนในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองที่เปิดผ่านไปไม่ได้

เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการ “ดีไซน์” การเมือง โดยคณะบุคคลในช่วง 6 ปีหลังรัฐประหาร 2557

ร่างรัฐธรรมนูญออกมา 2 ฉบับ ถูกตีตกไปฉบับหนึ่ง โดยผู้ยกร่างทอดถอนใจบอกว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

ร่างฉบับแรกอาจไม่ตอบโจทย์ “อยู่ยาว” ก็เลยต้องเขียนกันใหม่อีกฉบับ

จากนั้น จัดให้ลงประชามติ ภายใต้บรรยากาศจำกัดจำเขี่ย

เมื่อผ่านสมดังตั้งใจ ก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ใครแตะต้องไม่ได้ เพราะผ่านประชามติมาแล้ว

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ใช้จริงในการเลือกตั้ง มี.ค.2562

และได้รัฐบาลชุดปัจจุบันมาทำหน้าที่ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยุ่งยาก จากหลายๆ ปัจจัย

ยิ่งมาเจอกับการระบาดของโควิด-19 เข้าไปอีก ยิ่งกลายเป็นสภาพจมดิ่งอย่างน่าห่วง

ขณะที่การเมืองก็ยุ่งยากมากขึ้นเป็นลำดับ

ระบบที่จำกัดเสรีภาพมาอย่างยาวนาน และความพยายามยัดเยียดความคิดความเชื่อ เพื่อให้สอดคล้องและสร้างความชอบธรรมให้กับระบบที่จำกัดเสรีภาพ กลายเป็นแรงบีบคั้นไปยังเยาวชน นักเรียน นักศึกษา

กลายเป็นกระแสปฏิเสธการเมืองที่ดีไซน์มาโดยรุ่นปู่และลุงๆ น้าๆ

และเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็ประชาธิปไตย

แต่กระบวนการให้เกิดรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อปลดล็อกทางตันการเมืองก็มาติดขัดอยู่ที่สภา

และนั่นคือต้นเรื่องของเหตุการณ์ที่ทุกคนได้เห็นกันมาตลอดวันที่ 14 ตุลาฯที่ผ่านมา

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image