สถานีคิดเลขที่12 : แถวตรง ขวาหัน

“ผมผิดอะไร”

คนที่ตอบได้ดีที่สุด น่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ด้วยนับตั้งแต่เป็นผู้นำรัฐประหารกระทั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาตามพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญปี 2560

สิ่งที่ “โชว์” คนอื่นเสมอ คือ สามารถแก้ไขความขัดแย้ง ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย

Advertisement

แต่ ก็เป็นความขำขื่น

ด้วยเพราะจากสถานะ ผู้มาแก้ไข ได้กลายเป็นคู่ขัดแย้งเต็มตัว

และใช้อำนาจในมือ บดขยี้ คู่ขัดแย้งอย่างหนัก

Advertisement

ตอนนี้ประเทศ ต้องอยู่ใน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินถึง 2 ฉบับ

เพื่อควบคุมไวรัสโควิด-19 หนึ่ง

เพื่อควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม.หนึ่ง

และหากรวมจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ประเทศนี้มี “อำนาจเหล็ก” ควบคุม ถึง 3 ฉบับในเวลาเดียวกัน

พร้อมกับพยายามโชว์การใช้อำนาจนั้นอย่าง “หน้ามืด”

ดังนั้น ที่บอกว่า ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย จึงมีคำถามโตๆ ห้อยท้าย

ด้วยกว่า 6 ปี ได้พิสูจน์แล้วว่าแทนที่จะสงบ

กลับขัดแย้งร้าวลึก ลงไปถึง “ฐานราก” ของชาติ

อย่างที่ ในช่วงชีวิตของหลายๆ คน ไม่เคยเจอ

แต่ก็มาเจอในยุคนี้

มีการส่งสัญาณแจ้งเตือนให้รีบแก้ไข

โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ “ร่างขึ้นมาเพื่อพวกเรา” นั้นต้องแก้

แต่กลับยื้อยุดอย่างหนัก

นำมาสู่ ความขัดแย้งอันลึกซึ้งในวันนี้

ที่น่าเศร้า และกังวล ยิ่งกว่านั้น

การแก้ปัญหา แทนที่จะพยายาม อยู่ในปัจจุบันและมองไปที่อนาคต

กลับมีฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ขุดกลไกในอดีต ล้าสมัยออกมาใช้

ทำให้แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา กลับซ้ำเติมสถานการณ์ ให้เลวร้ายลงไปอีก

เราได้เห็นกลไกเก่า ที่เคยมีบทบาทสูงในการปูทางให้มีการรัฐประหาร

ไม่ว่า กลุ่มเสื้อเหลืองตกขอบ กลุ่ม กปปส. กลุ่มจารีตศาสนาขวาจัด

เข้ามาเป็นตัวเล่น เพื่อเกื้อหนุนฝ่ายกุมอำนาจ

ภายใต้ แนวทาง “ตกขอบ” ถึงขนาดเหยียดอีกฝ่าย เป็น “ขยะ” ที่ต้องถูกกำจัด ถูกขับไล่ออกจากประเทศ

เหล่านี้ ได้หลอมลวงให้เป็นเงื่อนไขที่ไปปะทะ ขัดแย้งกับอีกฝ่าย ที่เติบโตมากับเทคโนโลยี สมัยใหม่ และมีพื้นฐานที่แตกต่างจากเดิม

ทำให้ไม่อาจสามารถเชื่อมต่อ ปฏิสัมพันธ์ ต่อกันได้

กลายเป็นสงครามของคนต่างยุค ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

และที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหวนไปใช้ของเก่าในเก่ามาเป็นเครื่องมือแก้อีก

นั่นคือ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

และพยายามทำให้น่าเกรงขาม ด้วยการสามารถสลายม็อบที่ทำเนียบและปทุมวัน

แต่ถามว่าจบไหม ก็ไม่จบ ยิ่งบานปลาย

มีการระดม ตำรวจ ทหาร เข้าควบคุมสถานที่ต่างๆ

อย่าง รัฐสภา ที่เป็นดังสัญลักษณ์ของ อำนาจประชาชน

พร้อม คำขอความร่วมมือ ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ งดการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไปก่อน

แน่นอนรวมถึง กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ ด้วย (ตามคำแถลง ของนายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษก กมธ.ชุดดังกล่าว เมื่อ 15 ตุลาคม 2563)

ทั้งที่ กมธ.ชุดนี้ อาจใช้เป็นช่องทางลดความขัดแย้ง

แต่ก็ถูกปิดประตู ด้วยอำนาจของการประกาศภาวะฉุกเฉิน

โดยมีทหารนับร้อย ภายใต้คำสั่ง มารักษาความสงบเรียบร้อย ตรึงอยู่ในบริเวณรัฐสภา

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยหรือระดับผิวๆ

ที่บ่งบอกถึงภาวะ ผิดฝาผิดตัวในการแก้วิกฤตชาติบ้านเมืองแบบ “ตกขอบ”

ที่บางกลไกคุ้นเคยอยู่กับคำสั่งเพียง “แถวตรง” และโน้มเอียงไปในทาง “ขวาหัน” อย่างเดียว

ทั้งที่ มีทางเลือกให้ใช้มากมาย

รวมแม้กระทั่ง “เลิกแถว กลับบ้าน” หากเห็นว่าตัวเองเป็นปัญหา

มิใช่มาร้องถาม ผมผิดอะไร

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image