สถานีคิดเลขที่12 : 2 วันกับสาระ

การอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 ผ่านไปแล้ว ใช้เวลา 2 วัน ระหว่าง 26-27 ต.ค.

แนวการอภิปรายในรัฐสภา แบ่งออกเป็น 2-3 แนวคิด แยกคนละทางสองทาง

ข้างมากของ ส.ว.หรือ สภาสูง สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบเต็มๆ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก และแสดงท่าทีว่าอยากกลับมาเป็นนายกฯ อีก ส.ว.เหล่านี้ก็น่าจะพร้อมโหวตให้กลับมา

ส่วนความเข้าใจเรื่องม็อบราษฎร หรือม็อบอื่นๆ เป็นวิธีคิดเดิมๆ แบบราชการไทย เน้นความมั่นคงแบบไทยๆ ชัดเจน

Advertisement

ส่วน ครม. และพรรครัฐบาล มาในแนวให้กำลังใจนายกฯ เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น รมต.คนสำคัญๆ และ ส.ส.พรรครัฐบาล

มุมมองต่อการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ไม่ห่างจาก ส.ว.มากนัก แต่คมแหลมกว่า กล้าพูดมากกว่า

การอภิปรายของ รมต.และ ส.ส.รัฐ สะท้อนแนวความเชื่อของภาครัฐ ที่ว่า การเคลื่อนไหวของคณะราษฎร มีผู้บงการชี้นำอยู่เบื้องหลัง

Advertisement

ส.ส.รัฐบางคน ถึงกับบอกว่า เด็กๆ ที่มาชุมนุม ก้มหน้าดูแต่โทร.มือถือ เพื่อรับคำสั่งให้เดิน ให้หยุด

ในกลุ่มพรรครัฐบาล ที่แตกต่างออกไป คือ ปชป. ซึ่ง ส.ส.หลายคน พูดจาได้สมกับเป็นผู้แทนฯ มีข้อเสนอแนะ ให้ทางออก

มาถึงฝ่ายค้าน คิดถูกที่ไม่บอยคอต ไม่งั้นเป็นสภาวันเวย์แน่ เป็นบทบาทของ เพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ เพื่อชาติ และพรรคเล็ก

ฝ่ายค้านหลายคนผ่านตำแหน่ง รมต. ตำแหน่งทางการเมือง ชั่วโมงบินเหล่านี้ มีผลในการมองปัญหา การให้คำแนะนำ

หนึ่งใน ส.ส.ฝ่ายค้านที่เอาจริงเอาจังมาก คือ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ประท้วงสภาพอันน่าอัดอั้นด้วยการกรีดแขนตนเอง เลือดไหลกระฉูด

สำหรับความสด ตรงไปตรงมา ในการมองปัญหา อภิปราย การประท้วง ตรงนี้พรรคก้าวไกลโกยคะแนนไปไกล

ขณะที่นายกฯประยุทธ์ รอบนี้ชี้แจง ตอบโต้เป็นระยะ

การลุกขึ้นบอกว่า ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. รัฐสภาจะดำเนินการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผ่านร่างกฎหมายประชามติในเวลาใกล้ๆ กัน ถือเป็นข่าวสารที่สังคมรอฟัง

แต่ที่กล่าวเป็นนัยๆ ว่ามีต่างชาติอยู่เบื้องหลังม็อบ และการกรีดเลือดในสภาเป็นการจัดฉาก ตรงนี้ไม่เป็นผลดีกับนายกฯและทุกฝ่าย

ส.ส.วิสารเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองมานาน มีความคงเส้นคงวาในความคิด ถ้าใครบอกว่า จัดฉาก ต้องมีคำอธิบาย หลักฐานมากหน่อย พูดลอยๆ ไม่ได้และไม่ดี

ยิ่งเรื่องต่างชาติอยู่เบื้องหลังม็อบ ถ้าจริงก็เป็นปัญหาความมั่นคง รัฐบาลต้องไม่นิ่งเฉย

2 วันของการอภิปราย จะไม่เป็นการเผาผลาญเวลาไปเฉยๆ หากรัฐรับฟังเสียง ทั้งในและนอกสภา

ฟังให้มาก ก็เป็นการ “ถอย” เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเหมือนกัน

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image