สงครามภาพลักษณ์

หนึ่งในองค์ประกอบของความขัดแย้งปัจจุบัน มี สงครามภาพลักษณ์Ž หรือกระบวนการแย่งชิงความนิยมจากสาธารณชนผ่านการสร้าง-ปรับเปลี่ยน ภาพลักษณ์รวมอยู่ด้วย

มาตรวัดความสำเร็จของฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมต่อกรในสงครามประเภทนี้ อาจจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

หนึ่ง การสามารถรักษาความนิยมดั้งเดิมในหมู่ประชาชนที่เชื่อมั่นศรัทธาต่อตนเองเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

สอง การดึงดูดความนิยมจากบรรดาคนกลางๆ ที่ยังลังเลและไม่ตัดสินใจเลือกฝ่าย

Advertisement

สาม การสามารถเปลี่ยนใจฝ่ายที่เคยต่อต้านและไม่เห็นดีเห็นงามกับตนเอง

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สมรภูมิของ สงครามภาพลักษณ์Ž ในสังคมการเมืองไทย มีความเคลื่อนไหวหลายประการ

เริ่มจากผู้ชุมนุมในนาม คณะราษฎร 2563Ž ที่เคลื่อนไหวด้วยกลยุทธ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมหน้าสถานทูตฯ การจัดกิจกรรมสตรีทอาร์ต ตลอดจนการมีตัวแทนคนรุ่นใหม่ไปออกรายการโทรทัศน์ เพื่อสนทนากับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

Advertisement

นี่ยังไม่รวมถึงการเล่นเกม อายัดตัวรุ้ง-เพนกวิน-ไมค์Ž ของตำรวจ
อันนำไปสู่การตั้งเวทีปราศรัยหน้า สน.ประชาชื่น จนส่งผลให้คนรุ่นใหม่ผู้บุกเบิกม็อบ ซึ่งหายตัวออกไปจากซีนตั้งแต่เช้าวันที่ 15 ตุลาคม ถูกแสงสปอตไลต์จับในทันทีที่ออกจากเรือนจำ

บทบาทของคณะราษฎร 2563 นั้นมีทั้งแข็งกร้าว ยียวน เป็นนางเอก และเป็นผู้ถูกกระทำ

แม้สองบทบาทแรกอาจมุ่งเน้นสื่อสารกับคนกันเอง ทว่าสองบทบาทหลังกลับคล้ายจะสร้างความประทับใจและเรียกร้องความเห็นใจจากกลุ่มคนกลางๆ ได้ไม่น้อย

ขณะเดียวกัน มวลชนเสื้อเหลืองก็มีพัฒนาการทางด้านปริมาณที่น่าจับตา อย่างน้อยในแง่จำนวนอีเวนต์

จุดท้าทายของมวลชน กึ่งรัฐกึ่งประชาสังคมŽ กลุ่มนี้ อาจอยู่ตรงปัญหาที่ว่า แกนนำฮาร์ดคอร์Ž ยังไม่สามารถดึงดูดแรงหนุนจากผู้คนได้มากนัก หรือไม่มีศักยภาพพอจะสร้าง ม็อบออร์แกนิคŽ (จนต้องพึ่งพาการระดมพลแบบอื่นๆ)

และเมื่อมวลชนอีกฝ่ายยังมิได้ถลำพลาดเข้าสู่การใช้ความรุนแรงโดยต่อเนื่องจริงจัง ก็น่าตั้งคำถามว่าอะไรคือ แหล่งความชอบธรรมที่จะหล่อเลี้ยงมวลชนฟากนี้ในระยะยาว

หันไปพิจารณาเครือข่ายชนชั้นนำ นอกจากเริ่มเกิดกระบวนการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่สำคัญและน่าสนใจแล้ว

ยังมีอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำภาคธุรกิจ และเทคโนแครตบางราย ที่พยายามออกมาเสนอไอเดีย ตรงกลางŽ ระหว่างข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่กับการมุ่งรักษาเสถียรภาพของรัฐไทย

รวมทั้งมีการตั้งคำถามกึ่งตำหนิผู้นำประเทศคนปัจจุบันแบบชัดๆ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

กลุ่มตัวแสดงที่น่าผิดหวังที่สุดใน สงครามภาพลักษณ์Ž ปัจจุบัน คือ รัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐ

การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญกลายเป็นนาฏกรรมที่สูญเปล่า

เมื่อความพยายามของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่จะปรับแปรให้สารของเยาวชนผู้ประท้วงกลายเป็นเรื่องที่พอคุยกันได้บนเวทีทางการ ต้องยุติลงด้วยการแถลงสรุปของผู้นำรัฐบาล ที่ยังคงมีทัศนคติ กรอบคิด สมมุติฐาน และความเข้าใจปัญหาแบบเดิมๆ เสมือนไม่ได้รับฟังการอภิปรายอย่างตั้งใจ

แน่นอนว่าสังคมดูจะไม่ได้ฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการสมานฉันท์มากนัก
ไม่ว่าคณะกรรมการดังกล่าวจะแท้งก่อนคลอด หรือถือกำเนิดขึ้นมาแบบไม่สมประกอบก็ตาม

เช่นเดียวกับ ส.ส.พลังประชารัฐ ที่พาเหรดไปออกรายการดีเบตทางทีวี ซึ่งไม่มีใครสามารถดึงความนิยมจากกลุ่มคนที่ไม่ชอบรัฐบาล หรือคนที่มีจุดยืนกลางๆ ได้เลย

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ปฏิบัติตนประหนึ่งมนุษย์จักรกล ซึ่งคอยไล่ตามจับตามอายัดตัวเยาวชนโดยไม่หยุดหย่อน กระทั่งกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาผู้ชุมนุมไปแล้ว

คนสามกลุ่มที่ควรจะยืดหยุ่น-พลิกแพลงได้มากที่สุด จึงกลายสภาพเป็นคนที่ปรับตัวน้อยที่สุด

จนอดห่วงไม่ได้ว่าพวกเขาอาจเป็นผู้เล่นกลุ่มแรกๆ ที่จะถูกเขี่ยทิ้งจากกระดานความขัดแย้งอันยืดเยื้อรอบนี้

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image