สถานีคิดเลขที่ 12 : ไปรเวต vs เครื่องแบบ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ไปรเวต vs เครื่องแบบ

ในบรรดาเรื่องราวความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง “ผู้ใหญ่” กับ “เด็ก” หรือ “รัฐ” กับ “ประชาชน” ระลอกล่าสุด ตลอดช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา

วิวาทะเรื่อง “ชุดไปรเวต vs เครื่องแบบนักเรียน” ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ

ด้านหนึ่ง การมีคนรุ่นใหม่ในโรงเรียนลุกขึ้นตั้งคำถามต่อความจำเป็นของ “เครื่องแบบนักเรียน” ก็แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย” หรือ “อำนาจนิยม” กับ “เสรีนิยม” ที่แผ่ขยายเลาะลามมาถึงมิติในเรื่องการจัดการร่างกายของมนุษย์ แผ่ขยายมาถึงวิถีชีวิตประจำวันของเหล่าเยาวชน

Advertisement

นี่เป็นตัวอย่างอันชัดเจนที่บ่งชี้ให้พวกเราได้ตระหนักว่ากระบวนการใช้อำนาจและกระบวนการต่อต้านอำนาจ นั้นดำรงอยู่ในเรื่องราวเล็กๆ ใกล้ตัวมนุษย์อย่างไร

แต่อีกด้านหนึ่ง ประเด็นวิวาทะ “ชุดไปรเวต vs เครื่องแบบนักเรียน” ก็มิใช่ความขัดแย้งในระดับคอขาดบาดตาย ไม่ใช่การปฏิวัติสังคมแบบถอนรากถอนโคน

พูดอีกอย่าง คือ ต่อให้ข้อเสนอนี้ของเด็กๆ ได้รับการตอบรับ บรรดาผู้ใหญ่ก็ยังสามารถใช้ชีวิตต่อไปโดยปกติสุข ส่วนสังคม-รัฐ-ประเทศก็ไม่ถึงขั้นล่มสลายกันทั้งกระดาน

Advertisement

ตรงกันข้าม การจะใส่ “ชุดไปรเวต” หรือจะแต่ง “เครื่องแบบ” นั้นเป็นเรื่องที่สามารถพูดคุย เจรจา แลกเปลี่ยนมุมมองกันได้อย่างสันติ เป็นเรื่องที่สามารถปรึกษาหารือ ออกแบบ “ข้อตกลงใหม่” ร่วมกันได้ใน “พื้นที่ปลอดภัย”

ทุกฝ่ายสามารถถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผลว่า “เครื่องแบบนักเรียน” ช่วยลดปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” จริงหรือไม่? การใส่ “ชุดไปรเวต” ตามความปรารถนาและฐานะของเด็กๆ และครอบครัว จะยิ่งตอกย้ำปัญหา “ความไม่เท่าเทียม” จริงหรือเปล่า?

และเราจะสามารถแก้ไขปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ-ไม่เท่าเทียม” ในสังคม ที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าประเด็น “ชุดไปรเวต vs เครื่องแบบนักเรียน” ได้อย่างไร?

ถึงที่สุด การใส่ “ชุดไปรเวต” มาโรงเรียน นั้นถือเป็นเรื่องที่สามารถนำมาทดลองปฏิบัติได้ เพราะที่ผ่านมา ใช่ว่านักเรียนของสถานศึกษาทุกแห่งในประเทศนี้จะต้องสวมเครื่องแบบมานั่งเรียนหนังสือ (ทุกวัน)

เอาเข้าจริง นับเป็นเรื่องน่าแปลกใจด้วยซ้ำว่า ในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย และเปิดกว้างขึ้นหลายเรื่อง (ในเชิงสังคม-วัฒนธรรม) ตลอดหลายปี/ทศวรรษที่ผ่านมา ทำไมระเบียบปฏิบัติว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (รวมทั้งทรงผม) จึงยืนยงคงอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน?

ถ้าลองจินตนาการถึง “ความเป็นไปได้แบบอื่นๆ” ว่านักเรียนไทยสามารถแต่งกายด้วย “ชุดไปรเวต” มาเรียนหนังสือได้ พวกเขาและเธอสามารถแสดงความเห็นผ่านอัตลักษณ์หรือเครื่องแต่งกายส่วนบุคคลได้

บางที ผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจอาจจะมีโอกาสรับสารที่ระบุถึง “ความต้องการความเปลี่ยนแปลง” ของเหล่าเยาวชนได้รวดเร็วกว่านี้ พวกท่านอาจสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังผันผวนในปัจจุบันได้ทันท่วงทีและดีกว่าที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม ในโลกความเป็นจริง มิติการใช้อำนาจของผู้ใหญ่ในสังคมไทยกลับ “จำกัด-หดแคบ” ลงทุกที

แม้กระทั่งข้อเสนอเรื่อง “ชุดไปรเวต” ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังยอมรับไม่ได้ ยอมถอยไม่ได้ ทำความเข้าใจไม่ได้ และยืนกรานที่จะใช้อำนาจตามกฎระเบียบดั้งเดิม ควบคุมป้องปรามเด็กๆ

โดยหารู้ไม่ว่าอำนาจที่แผ่ไปถึงเรื่องใกล้ตัว-ชีวิตประจำวันของพลเมืองนั้น มิได้ทรงประสิทธิภาพดังแต่ก่อน

อำนาจเหล่านั้นมิได้เข้าถึงร่างกาย-จิตใจของผู้คนอีกต่อไป

นี่คือแนวโน้มที่ปรากฏผ่านวิวาทะ “ชุดไปรเวต vs เครื่องแบบนักเรียน” โดยยังมิต้องกล่าวถึงความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ซึ่งดำรงอยู่ในประเด็นถกเถียงอื่นๆ ที่ใหญ่โตซับซ้อนกว่าเรื่องราวความขัดแย้งภายในโรงเรียน

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image