คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 : ธง‘สู้’

คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 : ธง‘สู้’

คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 : ธง‘สู้’

ดูเหมือนรัฐ ไม่ให้ความสำคัญกับการใช้เวทีรัฐสภา เป็นทางออก แก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเท่าไหร่นัก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการก็ตาม หรือแม้แต่การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ยังวุ่นๆ อยู่

ทั้ง 2 เรื่องนี้ หากมอง หากวัดจากการจัดวาง ส่งตัวบุคคล เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ หรือกรรมการ ในนามของคณะรัฐมนตรีก็ดี ในนามของพรรคพลังประชารัฐก็ดี หรือแม้แต่โควต้าสัดส่วนรัฐบาล

จะเห็นได้ว่า ล้วนแต่สะท้อนภาพ การปฏิเสธสูตร ปรองดอง-แก้ขัดแย้ง ผ่านเวทีสภาลึกๆ อยู่ในที

Advertisement

ไม่ประสงค์ใช้กระบวนการนี้ แต่เชื่อมั่นว่า แนวทางที่รัฐบาลทำอยู่ การเชื่อฟัง อยู่ในโอวาทรัฐบาลเท่านั้น แก้ปัญหาได้

เรื่องการตั้งกรรมการสมานฉันท์

แม้ในท้ายที่สุด จะลงตัว ส่งชื่อ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเป็นกรรมการ

ส่งสัญญาณการให้ความสำคัญ

เนื่องจากคนหนึ่งเป็นสายตรง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกคนเป็น ส.ส.อาวุโส 14 สมัย ที่พรรคประชาธิปัตย์ ผลักดัน ส่งชื่อร่วมเป็นกรรมการแต่ต้น

แต่ร่องรอยของการผลักดัน อดีต ส.ส.สอบตก 2 คน ที่ถูกเรียกขานว่าเป็นตัวจี๊ด

ถูกตั้งคำถาม โคตรสมานฉันท์

แม้ถอนชื่อออกแล้วก็ตาม แต่ไม่อาจลบทิ้งคราบความสมานฉันท์แนวโรมรัน ได้

หากสังคม ฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามถึง 2 ท่านนั้น

หากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่แสดงความสงสัย ทวงถามชื่อของ เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ตามข้อตกลงของวิปรัฐบาล หล่นหายไปไหน

ไม่แน่นักว่า จะมีการทบทวน เปลี่ยนแปลงชื่อหรือไม่

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ดูไม่ต่างกับกรณีนี้

มีการจัดวางตัวคนเป็นกรรมาธิการ ที่ส่งสัญญาณเป็นการตั้งป้อมสู้

มากกว่าที่จะแสวงหา จุดร่วม ในความเห็นต่างระหว่าง 2 ฝ่าย

คนที่ส่งเข้ามาเป็นกรรมาธิการ หลายต่อหลายคน ล้วนแล้วแต่ เป็นผู้ที่ แสดงตนต่อสาธารณะชัดเจน บ้างสุดขั้ว หัวชนฝา ยืนอยู่ในฝั่งไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเด็ดขาด

ไม่เฉพาะสัดส่วนโควต้ารัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น

ส.ว. ที่มาจากกลไกการแต่งตั้งของ คสช.

กรรมาธิการในสัดส่วนโควต้าสภาสูง ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นประเภทมือขวาง ต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ เหมือนกัน

แล้วอย่างนี้ จะคาดหวังกับการแก้ไข ได้หรือไม่

หรือได้มากน้อยเพียงใด

และในท้ายที่สุด จะใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่

ไม่ได้ส่งเข้ามานั่ง เพื่อปักหลักต่อสู้ ต่อรอง ให้แก้ไขน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ รักษาเนื้อหาบทบัญญัติ ฉบับที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา เอาไว้ให้มากที่สุด หรอกหรือ

นักการเมืองบางท่านบอกว่า

ตัวแทนไม่ว่าจะฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล จะบ่งบอกถึงธงและเป้าหมายของแต่ละฝ่าย

วันนี้ธงและเป้าหมายฝ่ายรัฐบาล เป็นอย่างไร

อาจบางที สามารถค้นหาคำตอบได้เลาๆ จากการวางตัวกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การวางตัวกรรมการสมานฉันท์

ธงรัฐบาลเป็นผืนเดียวกับที่สังคมเรียกร้องต้องการ อยากเห็นหรือไม่

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image