สถานีคิดเลขที่12 : ‘เค้า’จะแก้ได้ไหม

เคาต์ดาวน์ปีใหม่ ที่กลายมาเป็น “เค้า” -LOCK-ดาวน์ ไปเรียบร้อย

แม้จะไม่ใช่การบังคับ

แต่สิ่งที่ “เค้า” ขอความร่วมมือ ก็ดูยุ่งยากในการปฏิบัติ

ดังนั้น หลายๆ คนหลายๆ ฝ่ายจึงเลือกไม่จัดดีกว่า

Advertisement

ซึ่งคงทำให้ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ปีนี้ หงอยเหงาแน่นอน

แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีใครคัดค้าน

เพราะตระหนักกันดีว่า ยอมลดความสนุกสนานลง เพื่อที่จะคุมการระบาดใหญ่ของไวรัส โควิด-19 น่าจะคุ้มค่ากว่า

Advertisement

ซึ่งเมื่อประชาชนร่วมไม้ร่วมมือกับ “เค้า” แล้ว

ก็หวังว่า “เค้า” อันหมาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายอนุทิน ชาญวีรกูล และคนในรัฐบาล

จะตอบสนองความร่วมมือของประชาชนนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลด้วยเช่นกัน

ต้องยอมรับว่า การรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่นี้

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล เปลี่ยนแปลงไป

จากครั้งที่ระบาดตอนแรก เราเลือกเอาสาธารณสุข นำเศรษฐกิจ

มีการใช้พระราชกำหนดภาวะฉุกเฉินเต็มรูปแบบ

พื้นที่ไหนจะมีปัญหา ไม่มีปัญหา รัฐบาลล็อกตายเหมือนกันหมด

แม้จะทำให้การแก้ไขปัญหาดูเด็ดขาด

แบบมีเป้าหมายเดียวคือการระบาดต้องเป็น 0

แต่ความแรงของมาตรการ ทำให้เศรษฐกิจ สลบเหมือด เงินกู้ 1.1 ล้านล้านก็ยังทำให้ฟื้นไม่ได้กระทั่งปัจจุบันนี้

เมื่อมาเจอ การระบาดรอบใหม่

รัฐบาลก็รู้ดีว่า คงจะใช้ “ยาแรง” เหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว

เพราะชาวบ้านอาจจะช็อกตายเพราะปัญหาเศรษฐกิจ มากกว่าป่วยเป็นโควิด

ทำให้ตอนนี้ แม้จะไม่ประกาศออกมาโต้งๆ แต่ ทุกคนก็มองในทางเดียวกัน

นั่นคือ รัฐบาล เลือกใช้เศรษฐกิจนำสาธารณสุข

การไม่ประกาศล็อกดาวน์ประเทศ แต่ใช้วิธีแบ่งพื้นที่แก้ปัญหาเป็นโซนๆ

แล้วใช้ความเข้มข้นในการควบคุมปัญหา แตกต่างกันไปตามอัตราการระบาดของไวรัส-19 แทน

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็พยายามลดโทนการแก้ไขปัญหาให้เบาลง

แม้กระทั่งการแถลงข่าว ก็มีคำว่า นะจ๊ะๆ ที่หลายคนฟังแล้วจั๊กจี้หู ห้อยท้ายอยู่หลายครั้งอย่างจงใจ

ซึ่งก็คงพยายามลดความซีเรียสแห่งปัญหาลงนั่นแหละ

และอาจประกอบกับ การถอดบทเรียนของบุคลากรในกระบวนการสาธารณสุข รวมถึงการปรับตัวของประชาชน ต่อไวรัสโควิด-19 มีมากขึ้น

ทำให้เราลดความแตกตื่น

และข้อมูล พร้อมทั้งข้อเท็จจริง ก็ยืนยันว่า เจ้าไวรัสนี้ ไม่ได้รุนแรงถึงขนาดเป็นแล้วตาย

ตรงกันข้าม ผู้รับเชื้อจำนวนมาก ไม่ได้แสดงอาการออกมา

สะท้อนว่าถึงจะรับเชื้อแต่หากร่างกายแข็งแรงก็สู้กับโรคนี้ได้

ไม่จำเป็นจะต้องล็อกดาวน์ แบบชนิดปิดตาย ซึ่งนั่นจะทำให้มีอาการข้างเคียงที่หนักกว่าป่วยเป็นโควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ

แนวทางใหม่ที่รัฐบาลเลือกนี้ ดูจะมีการขานรับจากหลายฝ่าย

แม้แต่ฝั่งฟากสาธารณสุขเองก็ไม่ได้คัดค้านชนิดหัวชนฝา

ซึ่งนี่เอง ทำให้รัฐบาลไม่ต้องเผชิญแรงเสียดทานอันสาหัสสากรรจ์ในการเลือกเดินแนวทางใหม่นี้

ทำให้สามารถเดินหน้าแก้ปัญหาได้อย่างเต็มที่

ตอนนี้ จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการพิสูจน์ “ฝีมือ” ที่จะบริหารจัดการ ควบคุม การระบาดรอบใหม่ ลงให้เร็วที่สุด

มีผลกระทบต่อชาวบ้านน้อยที่สุด

คำถามคือจะทำได้หรือเปล่า ไม่ใช่โยนปัญหาไปให้คนนั้นคนนี้

ชาวบ้านยอมให้ปีใหม่ผ่านไปแบบกร่อยๆ และร่วมมือทุกอย่างแล้ว

รัฐบาลก็ควรตอบแทนด้วยการเร่งแก้ไขปัญหา ให้ดี ให้เร็ว ให้มีประสิทธิภาพ

อย่าให้ชาวบ้านมานั่งปรับทุกข์กันเอง

“เค้า” จะแก้ได้หรือเปล่า!

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image