สถานีคิดเลขที่ 12 : ผ้าห่มกับเรือดำน้ำ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ผ้าห่มกับเรือดำน้ำ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ผ้าห่มกับเรือดำน้ำ

จากปลายเดือนธันวาคม มาจนถึงระยะนี้กลางเดือนมกราคม คนไทยได้สัมผัสอากาศหนาวเย็นกันอย่างยาวนานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะใน กทม. ที่ห่างหายสภาพอากาศเย็นสบายเช่นนี้มาหลายปีแล้ว ทำเอาเหล่าคนกรุงดีอกดีใจ สบายเนื้อสบายตัว

แต่น่าเสียดาย ที่การระบาดรอบใหม่ของโควิด พ่นพิษใส่การท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภาคเหนือที่ควรจะเป็นช่วงเทศกาลแห่งการท่องเที่ยวฤดูหนาวและปีใหม่ ช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้ลืมตาอ้าปากกันได้บ้าง

ลงเอยก็อ้างว้าง

Advertisement

ลมหนาวที่ภาคเหนือ ทำให้เหล่าเจ้าของธุรกิจการค้าหนาวสะท้านในหัวใจ ภาวะหนี้สิน การพังทลายทางเศรษฐกิจรออยู่เบื้องหน้า

ไม่เท่านั้น ข่าวจากผู้สื่อข่าวในภูมิภาคต่างๆ รายงานถึงสภาพความทุกข์ยากของชาวบ้านตามภูดอยต่างๆ ที่ต้องเผชิญภัยหนาวในท่ามกลางชีวิตอันขาดแคลน

กลายเป็นการเรียกหาคนใจบุญ เอกชนรายใหญ่ ให้ช่วยกันจัดหาเครื่องนุ่มห่ม ผ้าห่ม ต่างๆ

Advertisement

แต่ก็เกิดคำถามว่า แล้วการบริหารประเทศชาติของรัฐบาลเล่า ทำไมไม่สามารถดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้ทั่วถึง

ไม่ต่างจากกรณี “พิมรี่พาย” กับหมู่บ้านแม่เกิบ ในอำเภออมก๋อย เชียงใหม่ หมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งไม่ใช่แค่หมู่บ้านนี้แห่งเดียวอย่างแน่นอน

พูดง่ายๆ ว่าชีวิตพื้นฐานของประชาชนในท้องถิ่นกว้างไกล ยังต่างกันราวฟ้ากับเหวกับชีวิตชนชั้นสูงในเมืองหลวงหรือในเมืองใหญ่ๆ

แน่นอนว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะพัฒนาให้ใกล้เคียงกัน เพียงแต่ทำอย่างไรให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนรายได้น้อย ได้มีความเป็นอยู่ที่มีปัจจัยพื้นฐานเพียงพอ

รัฐบาลไหนที่ชอบคุยว่า เก่งกาจสามารถ ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศมา 6-7 ปี ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า จะยกระดับชีวิตประชาชนในชนบท ไม่ต้องหนาวตายในฤดูหนาว สามารถทำให้มีไฟฟ้าใช้ได้ทั่วถึงหรือยัง

เลยนึกถึงข่าว ส.ส.ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร แห่งมหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้เชี่ยวชำนาญด้านงบประมาณ เพิ่งออกมาท้วงติงถึงการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีลดลงกว่า 200,000 ล้านบาท สาเหตุเพราะการจัดเก็บภาษีลดลง เนื่องจากพิษโควิด

กลายเป็นวางนโยบายประหยัด โดยไม่มีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งที่ภาระหน้าที่ของรัฐบาลในขณะนี้มีแต่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉุดภาคเอกชนไม่ให้ล้มตาย ทำให้ภาคประชาชนมีกำลังซื้อ

แต่หนักกว่านั้น รัฐบาลกลับไม่มีการปรับลดงบประมาณในส่วนของกองทัพ โครงการจัดซื้ออาวุธต่างๆ ยังเดินหน้าเต็มที่ในงบปี 2565 เช่น กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำใหม่จากประเทศจีน จำนวน 2 ลำ งบประมาณ 25,000 ล้านบาท โครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ งบประมาณ 950 ล้านบาท

ขณะที่กองทัพบก กองทัพอากาศก็ยังเดินหน้าการจัดซื้ออาวุธต่อไป

แต่งบประมาณส่วนอื่นต้องประหยัด งบการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่มี

เอาง่ายๆ ก็คือ เรือดำน้ำอีก 2 ลำ กำลังจะกลับมาอีกแล้ว รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ

ขณะที่เรายังมีข่าว เศรษฐกิจธุรกิจในเบื้องหน้า น่าเป็นห่วงอย่างมาก ปากท้องประชาชนมีแต่เรื่องน่ากังวล

พร้อมๆ กับข่าวคนชนบทยังขาดผ้าห่มเสื้ออบอุ่นในท่ามกลางฤดูหนาวที่ปีนี้ยาวนานเป็นพิเศษ

โดย : สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image