สถานีคิดเลขที่12 : เหตุไม่เชื่อใน‘สัญญา’

ทั้งแต่งเพลง ทั้งให้คำมั่น ต่อประชาคมในและนอกประเทศ ว่า “จะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้เวลาถึง 5 ปี กว่าจะยอมให้มีการเลือกตั้ง

เนิ่นนานขนาดนั้น ยังมีเงื่อนไข “เอื้ออำนวย” พ่วงท้ายมาด้วย

ทั้ง “เขาอยากอยู่ยาว” และ “เขา (รัฐธรรมนูญ) ร่างมาเพื่อพวกเรา” ปูทางให้สืบทอดอำนาจ มาจนบัดนี้

Advertisement

แต่ ขนาดโรยด้วยกลีบกุหลาบขนาดนั้น

เราก็ยังได้เลือกตั้งกลับคืนมาไม่ครบ

เหลือเทศบาล ผู้ว่าฯพัทยา และผู้ว่าฯกทม. ที่ไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไหร่

อันสะท้อนว่า คำมั่น “อีกไม่นาน” ไม่จริง

ดังนั้น เมื่อหลายคนได้ฟังคำประกาศของกองทัพเมียนมาหลังโค่นล้ม นางออง ซาน ซูจี จะใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี จากนั้นจะมอบอำนาจในการบริหารประเทศ ให้กับผู้ชนะการเลือกตั้งต่อไป

จึงไม่ค่อยเชื่อ

ยิ่ง กองทัพเมียนมา ซึ่งมีประสบการณ์จากการ “ปิดประเทศ” มาหลายสิบปี ถือว่ามีภูมิคุ้มกันการกดดันจากประชาคมโลกอย่างโชกโชน

จึงเชื่อว่า การยึดอำนาจคราวนี้ ยาวแน่

และที่พูดฟังดูดี จะมอบอำนาจบริหารประเทศให้กับผู้ชนะการเลือกตั้งต่อไป

ย่อมไม่ใช่ฝ่ายนางออง ซาน ซูจี แน่นอน

กองทัพเมียนมา ซึ่งตอนนี้กลายร่างเป็น สภาบริหารแห่งรัฐ ที่ไม่ต่างจาก สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ หรือ สลอร์ค ในอดีตสักเท่าไหร่

โดย พล.อ.มิน อ่อง ลาย ดึงอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ มาไว้ในมือตนเองอย่างเบ็ดเสร็จ

ดังนั้น การจะคายอำนาจกลับคืนประชาชนเมียนมา จึงไม่ง่าย

แถมยังมีการปรับตัว ในการใช้อำนาจ ให้แยบคายมากขึ้น

น่าสังเกตว่า การยึดอำนาจ คราวนี้ ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ (ที่ฝ่ายตัวเองร่างขึ้น) ทิ้ง

ซึ่งนอกจากเป็นข้ออ้างว่ายังเคารพกฎหมายสูงสุดของประเทศอยู่

ยังใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำ “นิติสงคราม” กับฝ่ายตรงข้าม

ซึ่งคล้ายๆ กับประเทศเพื่อนบ้านที่ตอนนี้ใช้กฎหมายทุกรูปแบบเอาผิดฝ่ายตรงข้ามทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่ ทุกเม็ด

ดังนั้น อย่าหัวเราะ หรือดูแคลน เด็ดขาด

ที่กองทัพเมียนมา ยึดอำนาจทั้งที

แต่เฟ้นหา ความผิดนางออง ซาน ซูจี ได้แค่ ข้อหานำเข้า-ส่งออกวิทยุสื่อสารผิดกฎหมาย หลังเจ้าหน้าที่นำกำลังบุกค้นบ้านพักของเธอ

เพราะข้อหาเล็กๆ นี้ ตามกฎหมายของเมียนมา มีโทษจำคุกถึง 3 ปี

และอย่าลืมว่า พล.อ.มิน อ่อง ลาย ดึงอำนาจตุลาการ มาอยู่ในมือ อาจจะใช้ “ตุลาการพิฆาต” แช่แข็ง นางออง ซาน ซูจี ในคุกเต็มอัตราศึก 3 ปี

ขณะเดียวกัน ก็ทำ “นิติสงคราม” กับผู้นำพรรคเอ็นแอลดี ลากเข้าคุก อีกหลายๆ คน

ซึ่งนั่นก็อาจทำให้ คู่อริ ง่อยเปลี้ย ลงได้แบบทันทีทันใด

ประเด็นจึงมีอยู่ว่า จะใช้เวลาในการกวาดล้างเท่าใด

จะใช้ เวลา 1 ปี อย่างที่ประกาศแล้ว ก็นำสภาบริหารแห่งรัฐ ขึ้นขบวนรถไฟเลือกตั้ง

แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่ ปราศจากคู่แข่ง “สืบทอดอำนาจต่อไป”

ดังนั้น เวลาที่ขอไว้ 1 ปี นั้น มิได้จะหมายถึง การกลับมาแข่งขันกันอย่างเสรี ตามระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น

หากแต่น่าจะเป็นฝ่ายรุกข้างเดียว เพื่อครองอำนาจแบบยาวๆ ต่อไป

นี่เป็นโมเดล ที่เรามักจะพบเห็นเสมอ สำหรับประเทศที่มีการรัฐประหาร

และเผลอๆ ความคุ้นชินกับเรื่องทำนองนี้

เห็นกองทัพเมียนมาทำแล้ว วิญญาณ (อยาก) ปฏิวัติคืนร่าง อยากจะทำบ้าง ด้วยรำคาญพวกที่มายืนชูสามนิ้วต้านเต็มที

ดังนั้น อย่าไปเชื่อคำสัญญาลมๆ แล้งๆ ว่ายึดอำนาจแล้วจะคืนให้ประชาชนให้ง่ายๆ

มีแต่อยากทำอีก ?!?

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image