สถานีคิดเลขที่ 12 : เป็นรัฐบาลให้ได้ก่อนเถอะ

สถานีคิดเลขที่ 12 : เป็นรัฐบาลให้ได้ก่อนเถอะ

มีการตั้งข้อสังเกตจากการนั่งชมการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านเปิดศึกถล่มรัฐบาล จะพบว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงนั้น มักจะตอบโต้ฝ่ายค้านทำนองว่า เป็นพวกไม่ชอบทหารบ้าง รวมทั้งใช้ถ้อยคำที่ว่า เมื่อเวลาท่านเดือดร้อน อย่ามานึกถึงทหารก็แล้วกัน ไปจนถึงอ้างอิงว่าแผ่นดินนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ ใครเจตนาดีไม่ดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านรู้หมด อะไรทำนองนี้

จนประชาชนคนฟังต้องตั้งคำถามว่า นี่นายกฯเล่นกอดกองทัพ กอดแผ่นดิน มาสู้กับฝ่ายค้านเลยหรือ

และการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น เป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่นายกฯถึงขั้นต้องผลักฝ่ายค้าน เป็นพวกอยู่ตรงข้ามกับกองทัพ เป็นพวกไม่รักแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ อะไรไปขนาดนั้นเลยหรือ

Advertisement

อันที่จริง การอภิปรายของฝ่ายค้านนั้น ในแต่ละประเด็น นายกฯและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ก็มีโอกาสงัดเอาข้อมูลออกมาชี้แจงตอบโต้ ให้ประชาชนผู้ฟัง ได้รับรู้และตัดสินใจเอาเองได้

ต่อสู้กันด้วยข้อมูลด้วยการอภิปรายภายในห้องประชุมสภา อันเป็นขั้นตอนปกติของการเมืองระบอบรัฐสภา

กองทัพหรือความศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดิน ไม่ควรเอามาอยู่ข้างไหน

Advertisement

อีกประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก คือการเหน็บแนมฝ่ายค้านด้วยคำว่า “เอาไว้ท่านเป็นรัฐบาลก็แล้วกัน ก็อวยพรอยากให้เป็น แต่จะได้เป็นหรือไม่ก็ไม่รู้”

ภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่า นี่คือการเย้ยฝ่ายค้าน เป็นรัฐบาลให้ได้ก่อนเถอะ

พูดแบบนี้ มองกลับกัน ยิ่งตอกย้ำถึงที่มาของนายกฯและรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งถูกประชาชนจำนวนไม่น้อยมีความเห็นโต้แย้งมาตลอด

เพราะใช้รัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเรา ทำให้พรรคเพื่อไทยที่ได้จำนวน ส.ส.ในสภามากเป็นอันดับ 1 ก็ไม่สามารถเป็นนายกฯและเป็นรัฐบาลได้

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงมีเสียง ส.ว. 250 เสียง ที่ชี้ขาดการตั้งรัฐบาล เหนือเสียง ส.ส.และเสียงประชาชนหลายล้านที่ไปกาบัตรเลือกตั้ง

แล้วรัฐธรรมนูญนี้มาจากไหน ก็ยิ่งทำให้ต้องนึกย้อนถึงการรัฐประหารล้มประชาธิปไตยเมื่อปี 2557 แล้วก็เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาในช่วงเวลาที่รัฐบาล คสช.คุมอำนาจ

เขียนเสร็จก็จัดลงประชามติ ก็มีรอยด่างเสียอีก เพราะไม่เปิดโอกาสให้ผู้ไม่เห็นด้วยได้แสดงข้อมูล ให้ประชาชนได้พิจารณาก่อนไปลงประชามติ โดนอำนาจรัฐบาลทหารจับกุมดำเนินคดีกันระนาว

จนเรียกกันว่าประชามติแบบมัดมือชก และขาดความชอบธรรม

ต่อมามีเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องเปลี่ยนแปลงการเมือง โดยข้อหนึ่งคือ ต้องแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น อำนาจ 250 ส.ว.โหวตนายกฯ

ตอนม็อบเคลื่อนไหวหนักๆ ก็ยอมลดกระแส ด้วยการเปิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ

มาเมื่อสัปดาห์ก่อน มี ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมเป็นแกนนำในช่วงม็อบนกหวีด จนนำไปสู่การรัฐประหารและได้รัฐบาล คสช.นั้น ได้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบทั้งฉบับทำได้หรือไม่

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องนี้แล้ว มีคำสั่งให้รับไว้พิจารณา

เลยทำให้ชาวบ้านยิ่งนึกถึงคำท้าทายฝ่ายค้านที่ว่า เอาไว้เป็นรัฐบาลก็แล้วกัน ก็อยากให้เป็น แต่จะได้เป็นหรือไม่ก็ไม่รู้

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image