สถานีคิดเลขที่ 12 ต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

สถานีคิดเลขที่ 12 ต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

สถานีคิดเลขที่ 12 ต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อการดำรงอยู่ของ “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ” หรือ “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ-ไม่เต็มใบ” ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ
ดูเหมือนสังคมไทยโดยรวม และผู้เกี่ยวข้องแทบทุกฝ่ายจะมีต้นทุนหรือราคาต้องจ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

ต้นทุนแรก คือ “ระบอบประชาธิปไตยฯ” แบบนี้ นั้นแยกไม่ขาดจากการรัฐประหารปี 2557 ซึ่งไม่เพียงจะก่อให้เกิดความชะงักงันทางการเมือง-เศรษฐกิจ

แต่วุฒิภาวะของสังคม-ประชาชน ยังหมดโอกาสที่จะได้เจริญเติบโตงอกงามตามกระบวนการเรียนรู้-บ่มเพาะ อย่างที่ควรจะเป็นใน “ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์”

Advertisement

สอง การตื่นตัวและกระตือรือร้นทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ อาจเป็นผลลัพธ์ด้านบวกโดยอ้อมของ “ระบอบประชาธิปไตยไม่เต็มใบ” หลังปี 2557

ทว่าในอีกทางหนึ่ง ราคาที่สังคมต้องจ่าย ก็คือ การก่อตัวขึ้นของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรุ่น ซึ่งขยับเข้ามาแทนที่คู่ขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท หรืออำมาตย์กับไพร่

และดำรงอยู่ภายใต้ขั้วขัดแย้งหลักระหว่าง “ฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตย” กับ “ฝ่ายที่ขัดขวางประชาธิปไตย”

Advertisement

สาม พร้อมๆ กันนั้น สถาบันทางการเมือง-สังคม ต่างก็ถูกตั้งคำถาม-ไม่ไว้วางใจโดยถ้วนหน้า

ไม่มีใครกล้าปฏิเสธอย่างเต็มปากเต็มคำว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันมิได้รับความเห็นชอบจากประชาชนอีกประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ

รัฐมนตรีหลายๆ รายถูกตั้งคำถามถึงความรู้ ความสามารถ และมาตรฐานทางจริยธรรม อย่างยากจะโต้แย้งให้เป็นเหตุเป็นผล

รัฐสภากลายเป็นภาพตัวแทนของกระบวนการใช้เสียงข้างมากที่ “บิดเบี้ยว” ผ่านการดำรงอยู่ของ 250 ส.ว. ผ่านปรากฏการณ์ที่ ส.ส. ส่วนใหญ่ ไม่ยืนอยู่ข้างพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งจริงๆ ผ่านนิทานเปรียบเทียบว่าด้วย “งูเห่า” และ “ลิงกินกล้วย” ต่างๆ นานา

ไม่นับรวมประเด็นที่รัฐสภาไม่มีประสิทธิภาพในการผลักดัน “ร่างกฎหมายฉบับประชาชน” และอ่อนพลังในการผลักดันกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้คืบหน้า-ปราศจากการแทรกแซง

นอกจากนั้น เรายังได้ยินเสียงผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ตั้งคำถามถึง “กระบวนการยุติธรรม” ทั้งระบบ เพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่าสังคมไทยยังมี “ความยุติธรรม” อยู่หรือไม่

เราได้เห็นเด็กๆ ในชุดนักเรียน ตั้งคำถามถึงครู โรงเรียน หลักสูตร และระบบการศึกษาในภาพใหญ่ อย่างจริงจัง-เผ็ดร้อน

ผนวกรวมด้วยอาการอันไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในเครือข่ายสถาบันการเมือง-สังคมทั้งระบบ

มองในแง่นี้ ผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจ จึงมีความชอบธรรมลดน้อยลงทุกที

แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ ที่ต้นทุนล่าสุดซึ่งต้องใช้จ่ายออกไปเพื่อค้ำจุน “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ” นั้น ได้ลุกลามไปกระทบถึงบุคคลที่อยู่เคียงข้างหรือดำรงตนอยู่ในเครือข่ายอำนาจรัฐด้วย

หลายคนอาจประเมินผลลัพธ์เบื้องต้นจากคดี “กปปส.ล้มเลือกตั้ง” ว่าเป็นเพียง “ละครคั่นฉาก”

แต่นี่ก็เป็นละครที่มีคนเล่นจริง และต้องเจ็บตัวจริงๆ กล่าวคือ มีรัฐมนตรีต้องหลุดจากตำแหน่ง และมีนักการเมืองที่ต้องหลุดออกจากเส้นทางสายอำนาจอันน่าพึงปรารถนา

นี่คือปรากฏการณ์ที่ฝ่ายตรงข้ามย่อมรู้สึกสะใจเป็นธรรมดา ทว่าคนที่เหมือนเป็น “พวกเดียวกัน” จำนวนไม่น้อย กลับไม่ได้เห็นอกเห็นใจ หากมุ่งความสนใจไปยัง “เก้าอี้ใน ครม.” ที่ว่างลงมากกว่า

นี่เป็นต้นทุนที่เพิ่มสูงทบทวียิ่งขึ้น จนเริ่มกัดกินตนเอง และไม่รู้ว่าจะหมดตัวเมื่อใด?

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image