คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 : นิติรัฐ-สันติวิธี

คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 : นิติรัฐ-สันติวิธี การเมืองบนท้องถนนที่ตึงเครียด ผนวกด้วยอารมณ์ของผู้คน เนื้อหาของการชุมนุม และปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งคล้ายจะถูกยกระดับขึ้นพร้อมๆ กัน

คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 : นิติรัฐ-สันติวิธี

การเมืองบนท้องถนนที่ตึงเครียด ผนวกด้วยอารมณ์ของผู้คน เนื้อหาของการชุมนุม และปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งคล้ายจะถูกยกระดับขึ้นพร้อมๆ กัน

กำลังท้าทายนิยามความหมายของแนวคิด/ถ้อยคำสำคัญๆ ในทางการเมือง (อีกครั้ง)

คำแรก คือ หลัก “นิติรัฐ” ซึ่งอาจแปลความง่ายๆ ได้ว่าการปกครองโดยยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่ มิใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจของชนชั้นปกครอง

Advertisement

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลัก “นิติรัฐ” ในสังคมไทยถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด เนื่องจากความยุติธรรม โดยเฉพาะความยุติธรรมทางการเมือง ที่มักถูกตั้งข้อสงสัยว่าไม่ค่อยมีมาตรฐาน

จนถึงทุกวันนี้ คำถามดังกล่าวก็ยังคงก้องดังขึ้นอยู่เสมอ เมื่อผู้คนในสังคมได้เป็นประจักษ์พยานของกระบวนการควบคุมตัว ตั้งข้อหา รวมถึง (การไม่ให้) ประกันตัว บรรดานักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

นิยามอันไม่ลงตัวของคำว่า “นิติรัฐ” ในสังคมไทย วางฐานอยู่บนความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่าง “เครือข่ายอำนาจรัฐกลุ่มใหญ่” กับ “ประชาชน” ทั้งที่ออกมาชุมนุมกันเรือนหมื่นเรือนแสน และแนวร่วมอีกหลายล้านคน

Advertisement

ความยากลำบากในการผลักดันให้หลัก “นิติรัฐ” ขยับเข้าสู่รูปรอยที่เหมาะสม นั้นอยู่ตรงความเป็นจริงที่ว่า ต่อให้ฝ่ายหลังจะพยายามเรียกร้องมากมายขนาดไหน แต่ถ้าฝ่ายแรกไม่พยายามจะปรับตัวเลย

ความเปลี่ยนแปลงก็แทบไม่มีทางบังเกิดขึ้น
คำต่อมาที่กำลังถูกนิยามใหม่อย่างเข้มข้น ก็คือ “สันติวิธี”

จากปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนมีนาคม 2564 ความหมายของ “สันติวิธี” ได้ขยับเคลื่อนไปพอสมควร เมื่อการชุมนุมบนท้องถนนได้เปลี่ยนแปลง/ขยับขยาย
รูปแบบไปจากเดิม

ดูเหมือนผู้ชุมนุมและผู้กระตือรือร้นฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อย จะเห็นว่า แม้ “สันติวิธี” คือกลยุทธ์การเคลื่อนไหวที่ไม่ถึงขั้นมุ่งร้ายหมายเอาชีวิตมนุษย์รายอื่นๆ

ทว่า “การก่อความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์” ที่สื่อถึงความผิดปกติในสังคม และเป็นเครื่องมือระบายความโกรธแค้นของบรรดาคนเล็กคนน้อยผู้ถูกกระทำ นั้นยังดำรงอยู่ในขอบเขตของ “สันติวิธี”

ขณะที่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งก็มีความกังวลว่า แม้ “การก่อความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์” จะเป็น “สันติวิธี” แต่ท้ายสุดแล้ว จุดมุ่งหมายของแนวคิดนี้ ก็คือ การเอาชนะทางการเมือง การเอาชนะใจคนส่วนใหญ่ในสังคม รวมทั้งผู้มีอำนาจ

การพยายามขยับพรมแดนของ “สันติวิธี” จึงควรคำนึงถึงเป้าประสงค์ดังกล่าวด้วย

นี่คือข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเอง ซึ่งจุดยากลำบากอาจอยู่ตรงการแสวงหาแนวทาง/ฉันทามติร่วมในการเคลื่อนไหว หรือมิฉะนั้น ก็อาจต้องสู้เรื่องเดียวกันแต่แตกต่างแนวทางไปเรื่อยๆ

ทั้ง “นิติรัฐ” และ “สันติวิธี” กำลังถูกยื้อยุดอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความ
ขัดแย้งทางการเมืองที่แหลมคมยิ่งขึ้น

และชะตากรรมของคำ/หลักการหนึ่ง ก็อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงคำ/หลักการที่เหลือ

เช่น ยิ่งหลัก “นิติรัฐ” ถูกทำให้บิดเบี้ยวมากขึ้นเท่าไร ก็มีโอกาสสูงที่แนวคิด “สันติวิธี” จะถูกผลักไปอยู่ใกล้เส้น “ความรุนแรง” มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ในรูปเกมเช่นนี้ รัฐไทยที่มีกลไกอำนาจกว้างขวางอาจสูญเสียอะไรไม่เยอะ แต่สำหรับประชาชนที่ไม่มี “อาวุธ” (ทั้งในความหมายเชิงรูปธรรมและนามธรรม) ใดๆ ในมือ

พวกเขามีแนวโน้มจะสูญเสียร่างกาย สิทธิเสรีภาพ และความชอบธรรมทางการเมือง สูงกว่า

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image