สถานีคิดเลขที่ 12 : สู่‘เกมประชามติ’

สถานีคิดเลขที่ 12 : สู่‘เกมประชามติ’

สถานีคิดเลขที่ 12 : สู่‘เกมประชามติ’

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่ารัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่กระบวนการดังกล่าวต้องผ่าน “ประชามติ” สองครั้ง คือ ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองให้ประชาชนลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แม้หลายคนจะมองว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวอาจส่งผลให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินไปในรัฐสภาประสบกับภาวะติดขัด-ขาดตอน

ท่ามกลางภาวะคลุมเครือและการตีความซับไปซ้อนมาระหว่างสถาบันทางการเมืองต่างๆ

แต่อีกด้านหนึ่ง นี่ก็อาจเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน ในการกำหนด “ความชัดเจน” ของสังคมการเมืองที่พวกเขาสังกัดอยู่

Advertisement

ไม่ว่า “ประชามติ” ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็น “ประชามติ” ที่ต้องเกิดก่อนกระบวนการทั้งหมดของรัฐสภา หรือเป็น “ประชามติ” ที่เกิดก่อนหรือหลังการประชุมแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3

หรืออาจเป็น “ประชามติ” ใน “จินตนาการใหม่-ความเป็นไปได้ใหม่” ดังที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” แห่งคณะก้าวหน้า เสนอ

นั่นคือ “ประชามติ” ที่กำลังเกิดขึ้น อาจไม่ใช่ประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 (8) หรือประชามติในประเด็นสำคัญตามมาตรา 166

Advertisement

ทว่าเป็น “ประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิมและสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่”

อย่างไรก็ดี ทุกคนที่ผ่านการต่อสู้มาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ย่อมตระหนักดีว่าชัยชนะใน “เกมประชามติ” มิใช่สิ่งที่จะได้มาโดยง่ายดาย รวมทั้งต้องยอมรับว่านี่คือเกมที่ยากและซับซ้อนกว่า “การเลือกตั้งทั่วไป”

ย้อนกลับไปในกระบวนการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และ 2560 หากเราตีความว่า “ประชามติ” ทั้งสองครั้ง คือ การเผชิญหน้ากันระหว่างโครงสร้างทางการเมืองที่ถูกกำหนดโดย “รัฐเผด็จการ” กับเจตจำนงของ “ฝ่ายประชาธิปไตย”

เราก็มิอาจปฏิเสธความจริงที่ว่า ผู้ได้รับชัยชนะในการทำประชามติทั้งสองหน คือ ฝ่ายแรก

แม้คนจำนวนไม่น้อยจะอภิปรายว่าความพ่ายแพ้ของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ใน “ประชามติ” ที่ผ่านมา จะเกิดจากบรรยากาศภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐไม่สามารถโฆษณา-ประชาสัมพันธ์-เผยแพร่ความคิดของพวกตนได้อย่างเต็มที่

กระทั่งมีการจับกุมผู้รณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

แต่เราก็ต้องยอมรับ “ความเป็นจริง” ที่ว่าการรณรงค์เพื่อให้เกิด “ความเปลี่ยนแปลง” หรือเพื่อแสดงจุดยืนที่เป็น “ประชาธิปไตยกว่า/เสรีนิยมกว่า/ก้าวหน้ากว่า” ผ่านกระบวนการลง “ประชามติ” ของประชาชนนั้น มักต้องพบพานกับความยากลำบากเสมอ

เช่น “ประชามติเอกราชสกอตแลนด์” และ “ประชามติเบร็กซิท” ในบริบทของสหราชอาณาจักร

สำหรับบริบทการเมืองไทยปัจจุบัน จากชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดจนภาพรวมในการเลือกตั้งนายก อบจ.

หลายคนอาจวิเคราะห์ว่า “การโหวต” ไม่ว่าจะในนามของ “การเลือกตั้ง” หรือ “การลงประชามติ” นั้นคือ “คุณลักษณะของระบอบประชาธิปไตย” ที่ฝ่ายผู้มีอำนาจสามารถ “ควบคุม-ฉวยใช้” ได้อย่างอยู่มือ ผ่านเครือข่ายกลไกของรัฐราชการอันกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม น่าเชื่อว่า “ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การปกครองแบบ “(กึ่ง) ประชาธิปไตย” จะดำเนินไปในบรรยากาศเปิดกว้างกว่าเดิม กระทั่งประชาชนฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐสามารถรณรงค์ทางความคิดได้เข้มข้นตามสมควร โดยปราศจากการปิดกั้น-ชกใต้เข็มขัดดังสถานการณ์ในยุครัฐประหาร

หากเป็นเช่นนั้น ประชาชนจำนวนมากย่อมมีโอกาสได้นำเสนอ “จินตนาการ-ความเป็นไปได้ใหม่” หรือการต่อสู้แบบ “ชิลีโมเดล” ตามคำอธิบายของเลขาธิการคณะก้าวหน้า

นอกจากนี้ นี่ยังอาจเป็นเฟสใหม่ของ “ม็อบคนรุ่นใหม่” หลังจากแกนนำถูกคุมขังในเรือนจำ การเคลื่อนไหวบนท้องถนนเริ่มอ่อนพลังลง และเป้าหมายข้างหน้าก็แลดูลีบเรียวตีบตันยิ่งขึ้น

“ประชามติ” จึงเป็นเกมกระดานใหม่ ที่อาจใช้ยื้อชะลอความเปลี่ยนแปลง หรืออาจก่อให้เกิดหมากตาใหม่ๆ ของการต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

 

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image