สถานีคิดเลขที่12 : กลับมาที่ปัญหา

ปัญหาเริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญ จึงมีความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เหตุที่ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ เพราะการยกร่างและกระบวนการต่างๆ อยู่ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย

แม้จะมีการประชามติแต่ก็เป็นการประชามติที่ห้ามฝ่ายไม่เห็นด้วยชี้แจงแสดงเหตุผล

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ออกมาก็มีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการสืบทอดอำนาจ

Advertisement

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงกลายเป็นปัญหา

กระทั่ง พรรคประชาธิปัตย์นำประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญไปหาเสียง และกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาล

ต่อมา เกิดการชุมนุมประท้วง และมีข้อเสนอให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

Advertisement

พอม็อบแรง รัฐสภาก็ประชุมกันเพื่อหาทางลดความขัดแย้ง

หนทางหนึ่งที่จะแก้ไขความขัดแย้งคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ

รัฐสภามีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายฉบับ

ทั้งฉบับที่ประชาชนลงชื่อสนับสนุนโดยองค์กรไอลอว์ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ

รวมถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคเพื่อไทยเสนอ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอ

สุดท้ายกระบวนการทางรัฐสภาได้ยอมให้ร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้แก้ไข ม.256 ผ่านวาระ 1

ม.256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากแก้ไขมาตรานี้ได้ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร.และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หากจำได้นี่คือข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่เข้าร่วมรัฐบาล

การพิจารณาวาระ 2 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการทั้งพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และวุฒิสภา มีความเข้าใจเป้าหมายการแก้ไขปัญหา

เกิดเป็นแนวคิดที่ให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างใหม่ และเมื่อยกร่างแล้ว เสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นแต่ไม่ต้องโหวต

ผลจากข้อมูลทั้งหมดจะเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนจะนำไปตัดสินใจลงประชามติ

ข้อเสนอนี้ ต้องการกันกลไกจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิมไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการยกร่างกฎกติกาใหม่

หวังว่าแนวคิดนี้จะลดความขัดแย้งลงไปได้

ผลการพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 2 มีการถกเถียงโต้แย้งกัน

ในที่สุดที่ประชุมได้ผ่านวาระ 2 ตามเนื้อหาที่คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ

สุดท้ายมีผู้อ้างข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีการตีความกันหลากหลายทาง

ผลจากการตีความอันหลากหลายจะส่งผลต่อเสียงโหวตวาระ 3 ในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้

ตอนนี้จึงหวั่นๆ ว่า ผลสุดท้ายจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภามีมติในวาระ 2 ไปแล้วล้มทั้งยืน

เกรงกันว่ากฎหมายที่ต้องการจะแก้ปัญหาต้องล้ม เพราะกฎหมายที่สร้างปัญหา

หากผลออกมาเช่นนั้น

แสดงว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันนอกจากจะเป็นฉบับที่สร้างปัญหาแล้ว

ยังเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาอีกด้วย

และถ้าผลออกมาดั่งว่า

แสดงว่า ความพยายามลดความขัดแย้งด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มเหลว

ทุกอย่างวกกลับไปที่ปัญหาเดิม ปัญหาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

นฤตย์ เสกธีระ
maxlui2810@gmail

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image