สถานีคิดเลขที่ 12 : ไอ้-่า โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ไอ้-่า

แน่นอน คำว่า “ไอ้ห่า” ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หลุดบริภาษใส่นักข่าวนั้น

ย่อมสะท้อนถึงอารมณ์หงุดหงิดไม่สบายใจ และอาการวิตกกังวลของผู้พูด ต่อกิจการภายในบางอย่างของพรรคพลังประชารัฐ

แต่หากตัดบริบทจำเพาะเจาะจงดังกล่าวออกไป แล้วพิจารณาคำว่า “ไอ้ห่า” ในฐานะคำหยาบ หรือกริยาอันไม่เหมาะสมที่จะแสดงออกต่อสาธารณชน

นี่ก็เป็นถ้อยคำที่ผู้พูดแลดูไม่แคร์ ไม่ใส่ใจความรู้สึก และไม่ให้เกียรติคู่สนทนา ตลอดจนผู้ฟังรายอื่นๆ สักเท่าไร

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้พูดเป็นผู้นำระดับสูงของประเทศ ส่วนเพื่อนร่วมวิชาชีพบางรายของผู้ถูกเรียกว่า “ไอ้ห่า” ก็เพิ่งถูกนายกรัฐมนตรี “ล้อเล่น” ด้วยการฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ใส่หน้า และเพิ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงใส่จริงๆ ด้วย “กระสุนยาง” ระหว่างรายงานข่าวการชุมนุมของประชาชน

หรือถ้าจะตีความว่า “ไอ้ห่า” เป็นถ้อยคำธรรมดาสามัญที่ “ผู้ใหญ่” มักใช้เรียก “ผู้น้อย” ซึ่งรู้จักใกล้ชิดมักคุ้นกัน

บทสนทนาระหว่างรองนายกฯ กับสื่อมวลชน ก็ไม่น่าจะวางพื้นฐานอยู่บนสายสัมพันธ์ “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” เช่นนั้น

Advertisement

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมไหน การที่ผู้บริหารประเทศพูดคำว่า “ไอ้ห่า” ใส่นักข่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล จึงถือเป็นเรื่องไม่เหมาะ ไม่ควร ผิดที่ ผิดทาง ผิดฝา ผิดตัว ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ภายใต้ปรากฏการณ์หน้าฉากที่ดูจะ “ผิดเพี้ยน” ไปเสียหมดนั้น คำสบถข้างต้นยังอาจเป็นอาการบ่งชี้ถึงบรรทัดฐานทางสังคม-การเมืองที่กำลังเรรวนปรวนแปรจนชวนสับสน มึนงง หลงทิศทาง

ในทางการเมือง ภาวะรวนเรดังกล่าวแสดงออกผ่านความไม่แน่ใจหลากหลายประการ เช่น

ตกลงแล้ว ระบอบการปกครองของบ้านเราเป็น “ประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ” หรือเป็น “กึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ”

ผู้ปกครองประเทศของเรามีสถานะเป็น “นักการเมือง” หรือเนื้อแท้แล้วยังมีความเป็น “นายทหาร/ผู้นำคณะรัฐประหาร” อยู่

ใครกันแน่ที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาล “นายกรัฐมนตรี” หรือ “พี่ใหญ่/หัวหน้าพรรค/มือประสานสิบทิศ”
ฯลฯ

พร้อมๆ กันนั้น “สื่อมวลชนกระแสหลัก” เอง ก็กำลังเผชิญหน้ากับภาวะสั่นคลอนในทางวิชาชีพ

เมื่อนักข่าว/สำนักข่าวดั้งเดิมจำนวนมาก กลายสภาพเป็น “สื่อมวลชน” ที่ไม่ค่อยได้รับความเชื่อมั่นจาก “มวลชน” หรือไม่ใช่ช่องทางการรับข่าวสาร/ที่พึ่งพิงลำดับแรกๆ ของพวกเขา ณ ยุคเปลี่ยนผ่านสำคัญทางเทคโนโลยีการสื่อสาร

จากการถูกคาดหวังว่าจะสามารถเป็น “ปากเสียง” ให้สังคมและผู้คนที่เดือดร้อน สื่อมวลชนจำนวนมากเริ่มถูกสบประมาทว่าไม่สามารถเป็น “ปากเสียง” ให้ใครได้ แม้กระทั่งตัวเอง

หรือถ้าจะมองสื่อในฐานะ “สินค้า” ประเภทหนึ่ง ผู้ผลิตและผู้บริโภคสื่อจำนวนไม่น้อยก็อาจสงสัยว่านี่คือ “สินค้า” ที่ยึดโยงกับกลไก “ดีมานด์-ซัพพลาย” ตามปกติธรรมชาติ หรือเป็นกิจการธุรกิจที่มุ่งแสวงหารายได้-ผลประโยชน์ด้วยกลไกแบบอื่นๆ
ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์สภาพการณ์ปัจจุบัน “อัตลักษณ์-ตัวตน” ของทั้ง “นักการเมือง-ผู้บริหารประเทศ” กับ “สื่อมวลชน” จึงต่างมีปัญหาและถูกท้าทายตั้งคำถามจากประชาชนอย่างหนักหน่วง

เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งสองกลุ่มที่คลุมเครือ และเลื่อนไหลออกจากบรรทัดฐานก่อนเก่า

ท่ามกลางภาวะแห่งความไม่ลงรอย-ไม่ลงตัวเช่นนี้

คำว่า “ไอ้ห่า” จึงแว่วดังออกมาอย่าง “แปร่งเพี้ยน” ราวกับเป็นบทสนทนาระหว่าง “เจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพล” กับ “ลูกไล่” ของเขา

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว นั่นคือปฏิสัมพันธ์อันเป็นทางการระหว่าง “รองนายกรัฐมนตรี” กับ “สื่อมวลชน” ต่างหาก

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image