สถานีคิดเลขที่ 12 : รวบทุกอย่างไว้ในมือ โดย ปราปต์ บุนปาน

มองในแง่หนึ่ง รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐก็ดูแข็งแกร่งไร้เทียมทาน

นับแต่การมีเครือข่ายอำนาจที่กว้างใหญ่ไพศาลและเป็นระบบปึกแผ่น (ยิ่งกว่ารัฐบาลยุคไหนๆ)

รวมถึงการที่ศัตรู-คู่แข่งขัน-ฝ่ายต่อต้านของรัฐบาล ทั้งในและนอกสภา ต่างลงมือขยับเขยื้อนอะไรได้อย่างยากลำบาก เพราะมีต้นทุน “ติดลบ” ตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยกฎกติกาทางการเมืองชุดปัจจุบัน และด้วยกลไกอำนาจรัฐแขนงต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจบนท้องถนน ไปจนถึงกระบวนการยุติธรรมขั้นตอนอื่นๆ

ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐก็ยังประสบชัยชนะในสนามเลือกตั้งซ่อมสนามแล้วสนามเล่า นายกรัฐมนตรีมีคะแนนนิยมพุ่งสูงจากการสำรวจความเห็นประชาชนโดยหลายสำนักโพล

Advertisement

พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียง ส.ส. มากหน่อย ต่างถูกควบคุมไว้อย่างอยู่หมัด ทั้งการถูกริบบทบาทที่ควรมี ไปจนถึงการที่ผู้นำรัฐบาล สามารถขู่ “รัฐมนตรีขี้นินทา” ออกสื่อได้

ยิ่งกว่านั้น บางคนยังเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้คือ “ตัวเลือกที่ดีที่สุด” ของกลุ่มทุน-ชนชั้นนำไทยส่วนใหญ่ ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน

จึงย่อมกล่าวได้ว่า “รัฐบาลประยุทธ์” ถือเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบแบบไทยๆ และคล้ายจะสามารถรวบทุกอย่างเอาไว้ในมือโดยหมดจด

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การรวบทุกอย่างเอาไว้ในมือ หรือการมีสถานะเป็น “ศูนย์รวมทางอำนาจ” นั้นอาจหมายถึงการต้องผนวกรวม “สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา” บางประการเอาไว้ด้วย

อาทิ การเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการทำงานในลักษณะวิ่งไล่ตามปัญหา ใช้มาตรการต่างๆ ผิดเวลา ถูกตั้งคำถามในเรื่องนโยบายการจัดหาวัคซีน และยังควบคุมสถานการณ์ได้ “ไม่อยู่”

ประชาชนทั่วไป รวมถึงกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาล ยังมองไม่เห็นวิสัยทัศน์ชัดเจนในการแก้ไขเยียวยาสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งถูกกระหน่ำซัดด้วยวิกฤตโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากมาตรการแจกเงิน

นอกจากนั้น ยังมิอาจปฏิเสธว่าท่ามกลางชัยชนะ-ผลบวกทางการเมือง รัฐบาลชุดนี้ยังต้องรับเอา “ภาพลักษณ์ติดลบ” มาใส่ตัวโดยอัตโนมัติ

ดังจะเห็นได้จากคำวินิจฉัยสถานภาพผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี-สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งแม้ว่าการอ้างอิงหลักการทางกฎหมายบางอย่าง จะช่วยยืนยันถึงสถานภาพอันแข็งแกร่งไม่มีใครแผ้วพานได้ของรัฐบาลอีกหนึ่งหน

ทว่าในเชิงการเมือง นี่อาจเป็นชัยชนะที่ต้องแลกมาด้วยความไม่ไว้วางใจ ความคลางแคลงใจ คำถามในเชิงจริยธรรม ความไม่เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ผุดผ่อง (แม้แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเองก็มิได้ “ฟอกขาว” ให้ผู้ถูกร้องอย่างสมบูรณ์)

และความสงสัยว่า “จะเอากันอย่างนี้เลยหรือ?”

ประเด็นนี้ไม่เพียงจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก “กองแช่ง” หาก “กองเชียร์รัฐบาล” บางส่วนเอง ก็จำต้องฝืนรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความลำบากใจ

ดังนั้น การชนะในทุกสังเวียน การรวบรวม “แต้มต่อ” ทุกเรื่องมาอยู่ในมือ จึงอาจมิได้หมายถึงการมีเสถียรภาพและการได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ-แรงศรัทธาจากประชาชนเสมอไป

มิหนำซ้ำ ประสบการณ์ในอดีตก็เคยบอกพวกเราว่า ผู้มีอำนาจที่มุ่งแสวงหาชัยชนะแบบไม่ยอมแพ้ มุ่งจะเอาประโยชน์ทุกเรื่องแบบไม่ยอมเสีย นั้นต่างประสบความพังพินาศมานักต่อนักแล้ว

มิใช่หรือ?

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image