สถานีคิดเลขที่12 : ใครควรถูกเว้นวรรค

เป็นภาวะย้อนแย้ง อย่างไรไม่รู้

นั่นคือ ยิ่ง นายกรัฐมนตรี รวมศูนย์ การบริหารจัดการโรคระบาด โควิด-19 เอาไว้ที่ตัวเองในทุกระดับ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แต่เวลาปฏิบัติจริง กลับไร้ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เราเห็นแต่ภาวะ กระจัดกระจาย ไม่รวมศูนย์ เปลี่ยนไปมา

Advertisement

แม้จะพยายาม เรียกให้ฟังดูดีว่าเป็นการ “ปรับแผน”

แต่ ไร้กระบวนท่า เสียมากกว่า

อย่างกรณี การจัดหา “วัคซีน” ที่มีคนเตือนล่วงหน้าเอาไว้มากมาย ว่า การไปผูกเอาไว้เฉพาะ 1-2 ยี่ห้อ จะมีความเสี่ยงสูง

Advertisement

ซึ่งก็เห็นตัวอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว กรณี เกิด อาการ ต้อง “เว้นวรรค” การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่วัคซีนไม่เพียงพอ เนื่องจากการส่งมอบไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

การแก้ปัญหา “เบ็ดเสร็จ” ที่เราได้เห็นคือการออกมาพูด ว่า ในเดือนมิถุนายน ที่จะเริ่มฉีดกันเต็มที่นั้น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มาแน่

แต่ไม่อาจบอกว่า มาเมื่อไหร่ จำนวนถึง 6 ล้านโดส ตามเป้าหมายหรือเปล่า

ทั้งที่นี่คือ “วาระแห่งชาติ”

ที่ควรแปรไปสู่การปฏิบัติอย่างชัดเจน และไม่ควรต้องมาปรับแผน กันรายวันอีกแล้ว

อย่าง วัคซีนทางเลือก ที่ รัฐบาลมีอำนาจเต็ม ในการจัดหา

แต่ ที่ผ่านมาก็มีแต่เพียงการบอกกล่าวว่ากำลังดำเนินการอยู่

ศบค. และนายกฯไม่อาจมีคำตอบว่า วัคซีนทางเลือก จะเป็นวัคซีนอะไร จะมาเมื่อไหร่ อย่างไร

จนที่สุดเราก็ได้เห็น ภาวะการแตกตัวออกจากศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จ (ที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ทราบมาก่อน และยอมรับว่าได้รับรู้พร้อมกับชาวบ้าน)

นั่นคือ การที่ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ออกมาแสดงบทบาทการจัดหา “วัคซีนทางเลือก” และเปิดรับฉีดวัคซีนด้วยตนเอง

และเพียงชั่วข้ามวัน “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ก็แสดงความสามารถ ที่เป็น “รูปธรรม” ให้ชาวบ้านเห็น

ด้วยการประกาศจะนำเข้า วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง ภายในเดือนมิถุนายน 1 ล้านโดส

ผ่อนคลายความรู้สึกของชาวบ้านเรื่อง วัคซีนขาดแคลน ลงได้อย่างมาก

พร้อมๆ กับเกิดคำถาม รัฐบาลภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จ ทำไมทำไม่ได้

แถมยังไปแก้ปัญหานี้ด้วยการชะลอ การลงทะเบียน “หมอพร้อม” เข้าไปอีก ชาวบ้านก็ยิ่งแตกตื่น

ทำให้ เราได้เห็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ออกมาลุย เปิดรับการฉีดวัคซีน โดยดึงพันธมิตรจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยรับการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน

ซึ่งก็ปรากฏว่าภายในไม่ถึงสัปดาห์ ระบบการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น คล่องตัว วันเดียวสามารถรับมือคนนับล้านได้โดยไม่สะดุด

เกิดอะไรขึ้นกับกลไกของรัฐบาล-ศบค. ที่ย้ำอีกทีว่ารวมศูนย์อย่างเบ็ดเสร็จแต่ไม่สามารถทำได้เหมือน

ปรากฏการณ์ วัคซีนทางเลือกของ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” และระบบลงทะเบียนของ กทม. ในด้านหนึ่งก็อาจมองว่า ดีแล้วที่มาร่วมด้วยช่วยกัน

แต่อีกด้านมันก็สะท้อนให้เห็นว่า ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่รวมเอาแทบทุกกลไก เข้ามา ไม่ได้ทำให้การทำงานเพื่อรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 มีประสิทธิภาพ

จนทำให้หน่วยงานที่มีภารกิจรับผิดชอบประชาชนเช่นกัน ต้องกระโดดออกไปทำงานกันเอง

รัฐบาลมีบทบาทแค่ไหลไปตามน้ำ

ผู้นำ-ศบค.ที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด กลายเป็นฝ่ายตาม

จนมีเสียงถามไถ่ว่าเมื่อชาวบ้านถูกเว้นวรรคการฉีดวัคซีนแล้ว

ควรจะมีใครถูกเว้นวรรค เพื่อให้รับผิดชอบบ้างหรือไม่

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image