สถานีคิดเลขที่12 : พลวัตประชาธิปไตยไทย

หากมองในกรอบเวลาระยะสั้นๆ เรื่องสำคัญทางการเมืองประจำสัปดาห์นี้ ดูจะอยู่ตรงเกม “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่รัฐสภา ว่าท้ายสุด ทุกอย่างจะคลี่คลาย/ระเบิดไปสู่ทิศทางไหน?

จะหยุดอยู่ที่เรื่องระบบการเลือกตั้ง โดยกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบในโมเดล ซึ่งปรับปรุงมาจากรัฐธรรมนูญ 2540

หรือจะสามารถแก้ไขเรื่องสำคัญอื่นๆ ที่ “ไปได้ไกล” กว่านั้น

หรือจะเป็นอย่างที่บางคนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็น “มวยล้มต้มคนดู” (อีกหน) ซึ่งไม่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนอะไรเลย

Advertisement

น่าสนใจว่า “เกมแก้รัฐธรรมนูญ” ที่จะเริ่มต้นใหม่อีกรอบในสภาผู้แทนราษฎร นั้นเกิดขึ้นโดยซ้อนทับกับวาระ “89 ปี ประชาธิปไตยไทย” ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 พอดี

ณ ปัจจุบัน คำถามที่ว่า “ประชาธิปไตยไทย” ก้าวหน้า หรือถอยหลัง? ดูจะไม่ค่อยนำไปสู่คำตอบที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากนัก

เพราะในความเป็นจริง บรรดา “สถาบัน/แนวคิดที่ถูกประดิษฐ์สร้าง” ด้วยกระบวนการทางสังคม-วัฒนธรรม ทั้งหลาย ล้วนดำรงตนข้ามกาลเวลาอันยาวนาน ในลักษณะที่บางครั้งก็เคลื่อนหน้าก้าวกระโดดไปไกล บางคราวก็ถูกยื้อยุดฉุดรั้งจนเสียกระบวน และไม่ค่อยมีอะไรที่ “วิวัฒน์” เป็น “เส้นตรง” อยู่แล้ว

Advertisement

แต่ถ้าตั้งคำถามว่า 89 ปีผ่านไป “ประชาธิปไตย” มีพลวัต-ความเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่?

ก็ยากที่จะมีใครกล้าปฏิเสธว่า “ไม่มี”

มิหนำซ้ำ พลวัตที่กำลังดำเนินไปในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย ยังนำไปสู่โจทย์การเมืองที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าเก่าเสียด้วย

หากย้อนกลับไปในวาระ “60 ปี ประชาธิปไตยไทย” หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ไม่นาน โจทย์หลักทางการเมืองยุคนั้น น่าจะอยู่ที่การผลัก/ส่งทหารกลับเข้ากรมกอง และการต้องยอมรับรัฐบาลเลือกตั้งที่นำโดยนักการเมือง-พรรคการเมือง

หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สังคมการเมืองไทยไม่ได้ต้องการเพียงแค่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เราต้องการผู้นำรัฐบาล ซึ่งมีศักยภาพในการบริหารประเทศ และมีความรู้ความสามารถเท่าทันโลก

พร้อมๆ กันนั้น เรายังกำหนดสเปกว่าผู้นำประเทศที่เก่งกล้าเฉลียวฉลาดและทีมงานของเขา ต้องไม่มีพฤติกรรมทุจริต-คอร์รัปชั่นอีกด้วย

มาถึงปี 2564 ที่ “ประชาธิปไตยไทย” มีอายุเกือบถึง 9 ทศวรรษ โจทย์ปัญหาของสังคมการเมืองไทยคล้ายจะขยับไปอีกขั้น

เมื่อคนจำนวนไม่น้อย ไม่ปฏิเสธทหารที่พรางตัวเข้ามาครอบครองอำนาจภายใต้ “เสื้อคลุมประชาธิปไตย” และถูกห้อมล้อมอุ้มชูโดยเหล่านักการเมือง-นักเลือกตั้ง

เมื่อคนจำนวนไม่น้อย ไม่ได้เลือกสนับสนุนผู้นำประเทศ-นักการเมือง-พรรคการเมือง โดยมุ่งพิจารณาไปยังความสามารถในการบริหารจัดการและองค์ความรู้ที่เท่าทันสากลโลกของพวกเขา

เมื่อคนจำนวนไม่น้อย เริ่มไม่แคร์กับข้อครหาเรื่อง “บุคคลสีเทา” หรือ “บุคคลผู้มีพฤติกรรมทุจริต” ซึ่งปรากฏกายโดดเด่นอยู่ในคณะรัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่พวกตนสนับสนุน

ท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ วิวาทะข้อถกเถียงสำคัญในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย จึงไม่ได้เวียนวนอยู่ตรงประเด็นคุณสมบัติของนักการเมือง และประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาล

ทว่ากำลังเลื่อนไหลข้ามไปสู่ประเด็นเรื่อง “ระบบ-ระบอบการเมือง” ที่คู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายพึงปรารถนา

นี่คือวิวาทะที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่อง “ความแตกต่างระหว่างรุ่น” ในหมู่ประชากร และชุดคุณค่าต่างๆ ในสังคมที่ทวีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ผนวกรวมกับอารมณ์ความรู้สึกที่มองว่า “การเมืองในระบบปัจจุบัน” เริ่มก้าวไม่ทันพลวัตใหม่ๆ อย่างเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image