สถานีคิดเลขที่ 12 : สัมภาระทางอำนาจ โดย ปราปต์ บุนปาน

แถลงการณ์เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยนายกรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน สร้างความผิดหวังให้กับผู้คนจำนวนมาก

ทั้งเพราะเนื้อหาสาระที่ไม่ชัดเจน-หนักแน่น

การสวมบทบาทผู้นำที่ต้องตอบคำถามนักข่าว โดยมี “อาจารย์หมอใหญ่” คอยกระซิบ “บอกบท” อยู่ข้างๆ ตลอดเวลา

แถมด้วยมุขตลกแนว “นะจ๊ะ” ที่ฟังแล้วขำไม่ออก

Advertisement

ยิ่งกว่านั้น การพูดลอยๆ ว่าจะมีมาตรการปิดแคมป์คนงานตอนเย็นวันทำงานสุดท้ายของสัปดาห์ ก็ส่งผลให้มีแรงงานจำนวนไม่น้อยหลบหนี/อพยพออกจากแคมป์หรือไซต์งานก่อสร้าง จนถือเป็นการกระจายความเสี่ยงออกไป มากกว่าจะเป็นการควบคุม-รวมศูนย์ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความน่าผิดหวังเหล่านี้ ดำรงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด ที่ยังมีผู้ติดเชื้อโควิดทวีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ อัตราเพิ่มของผู้เสียชีวิตยังไม่ชะลอตัว เริ่มมีเสียงสะท้อนของบุคลากรทางการแพทย์ในระดับปฏิบัติการ ว่าพวกเขารับมือกับปัญหาหนักหนาสาหัสไม่ไหว ทั้งเพราะความผิดพลาดเชิงนโยบายของผู้บริหาร ข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร และกำลังใจที่ลดต่ำลง

รวมถึงการตั้งคำถามของสาธารณชนต่อ “วัคซีนที่เรามีอยู่” ว่าจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกปัจจุบันและเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้หรือไม่?

Advertisement

หลังจากประชาชนหงุดหงิด เคว้งคว้าง กับบรรยากาศคลุมเครือไม่ชัดเจน และต้องนั่งคิดหาหนทางในการช่วยเหลือ-ป้องกันตัวเอง อยู่ได้ราวๆ หนึ่งวัน

จู่ๆ รัฐบาลก็มาออกประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ในพื้นที่กรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด เอาตอนหลังเที่ยงคืน ตรงรอยต่อระหว่างวันเสาร์กับวันอาทิตย์

นี่คือการสื่อสารสาธารณะที่ผิดกาลเทศะอย่างรุนแรง และยังมีรอยโหว่เหมือนที่เคยมีในมาตรการหนก่อนๆ

เช่น สุดท้ายแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ที่ต้องกลับตัวไปมา ระหว่างการเปิดร้านให้ผู้บริโภคนั่งกินอาหารได้ กับการให้ลูกค้าซื้ออาหารไปกินที่บ้านได้เท่านั้น จะได้รับการเยียวยาหรือไม่? อย่างไร?

นอกจากนี้ แทนที่รัฐบาลจะเร่งสร้างความมั่นใจของสังคมให้กระเตื้องขึ้นในช่วงเช้าวันอาทิตย์ ก็กลับไปทุ่มเทเวลาให้กับการโต้เถียงว่าประกาศเมื่อก่อนย่ำรุ่งนั้น “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ล็อกดาวน์

ซึ่งนับเป็นพฤติกรรมที่ผิดที่ผิดเวลาซ้ำสอง

ในสภาวะน่าเศร้าอย่างนี้ นอกจากความไม่เชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลแล้ว เมื่อหันไปหาสถาบันทางการเมืองอื่นๆ เช่น รัฐสภา

เราก็ได้พบกับเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสุดท้าย อาจแก้กันได้แค่เรื่อง “ระบบเลือกตั้ง” ที่คล้ายจะตอบสนองผลประโยชน์ของพรรคการเมืองเป็นหลัก โดยมิได้ยึดโยงกับความทุกข์ร้อนของประชาชน (ในวิกฤตการณ์โรคระบาด) สักเท่าใดนัก

หากจะเปรียบเทียบไปแล้ว รัฐบาลชุดปัจจุบันและเครือข่ายอำนาจแวดล้อมที่หนุนหลัง ก็เหมือนคนซึ่งมี “กระเป๋าที่บรรจุสัมภาระทางอำนาจ” อยู่สองใบ

สิ่งที่บรรจุไว้ในกระเป๋าใบแรก คือ อำนาจทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อำนาจรัฐที่สั่งสมมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 (หรือก่อนหน้านั้น) และอำนาจทุน ซึ่งยังคงเอ่อล้นเต็มเปี่ยมไม่มีบกพร่อง

ทว่าสิ่งที่บรรจุไว้ในกระเป๋าใบหลัง คือ อำนาจอันเกิดจากความชอบธรรมในสายตาประชาชน กลับถูกใช้จ่ายออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเปล่าเปลือง กระทั่ง “สัมภาระทางอำนาจชนิดนี้” อาจหลงเหลืออยู่น้อยเต็มที

คำถามมีอยู่ว่ารัฐบาลจะสามารถพึ่งพา “สัมภาระทางอำนาจ” ในกระเป๋าเพียงใบเดียวได้จริงๆ หรือ?

และจริงหรือไม่ที่การสิ้นสูญของ “สัมภาระทางอำนาจ” ในกระเป๋าใบหนึ่ง จะไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่งคั่งเหิมเกริมในกระเป๋าอีกใบ?

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image