สถานีคิดเลขที่12 : ปราบไม่หมด

“ให้เข้าใจตรงกันนะครับว่า ที่ออกมา ผมไม่ได้ประกาศตัวเป็นผู้นำ ไม่ได้ประกาศตัวเป็นแกนนำ แต่ผมประกาศตัวเป็นคนทำงาน ถามว่าเป็นคนทำงานขององค์กรอะไร ก็ไม่ต้องตั้งองค์กรอะไรให้ซับซ้อน ผมใช้ชื่อ ‘เครือข่ายไล่ประยุทธ์’ นี่แหละ เอาตรงๆ ซื่อๆ ชื่อย่อผมก็ตั้งว่า ‘อ.ห.ต.’ บ้านเมืองวันนี้มันไม่มีหลักเกณฑ์อะไรอยู่แล้ว บ้านเมืองเวลานี้ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ เขาอยากจะคิดอยากจะทำอะไรก็ตามอำเภอใจ เขาอยากจะยัดคนไร้ความสามารถแบบนี้ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี 7-8 ปี เขาก็ทำกันหน้าตาเฉย….เมื่อบ้านเมืองมันไม่มีหลักเกณฑ์อะไร ตัวย่อมันก็ไม่ต้องมีหลักเกณฑ์อะไรไปบังคับล่ะครับ เครือข่ายไล่ประยุทธ์ผมจะย่อว่า อ.ห.ต. ผมก็เอาของผมแบบนี้”

คือคำอธิบายของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หลังการประกาศ “กลับมา–I’m back” ร่วมเคลื่อนไหวกับมวลชนอีกครั้ง

เป็นการกลับมาในฐานะ “ส่วนหนึ่ง”

มิใช่ “ส่วนนำ”

Advertisement

ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าใจ “มวลชน” ที่เคลื่อนไหวอยู่ตอนนี้เป็นอย่างดี

คือต่างคนต่างนำ ต่างเคลื่อนไหว

มิใช่ “องค์กรจัดตั้ง” เดียวกัน

Advertisement

จึงเป็นความหลากหลาย แบบร้อยบุปผาประชันแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม จะมองว่าเป็นจุดอ่อน “สำคัญ” ก็คงได้

ด้วยเมื่อมิได้เป็น “เอกภาพ”

การขับเคลื่อนจึงไปในทางเดียวกันบ้าง แย้งกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง

ทำให้การเคลื่อนไหวไม่เป็นเอกภาพ

ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูก ปราบปราม บดขยี้สูงมาก

ด้วยเพราะฝ่ายกุมอำนาจ มีทั้งกฎหมายเหล็ก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่แตกลูกไปทั้งเรื่องโรคระบาด ความมั่นคง การควบคุม การจัดการข้อมูลข่าวสาร (ที่ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองไม่ให้ดำเนินการแล้ว)

สามารถยกข้อกล่าวหาสารพัน มาจัดการมวลชนฝ่ายตรงข้ามได้

ยิ่งกว่านั้นยังมี “มวลชน” ฝ่ายไม่เห็นด้วย ออกมาเผชิญหน้ากับมวลชนฝ่ายไม่เอารัฐบาล ที่อาจจะนำไปสู่การปะทะกันของประชาชนด้วย

ด้วยภาวะดังกล่าว กลุ่มมวลชนที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลจึงมีโอกาสถูก “ปราบ” ถูก “จัดการ” สูงมาก

ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้น กระบอง รถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ถูกกระหน่ำใส่ และตามมาด้วยคดีอีกเป็นพวง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกต ก็คือภายใต้การเคลื่อนไหวที่มากด้วยจุดอ่อน ไร้เอกภาพ สะเปะสะปะ

แต่กลับยังสามารถ ยืนเด่น โดยท้าทาย อยู่ได้

สะท้อนว่า การเอาชนะ ด้วยการ “ปราบ” อย่างเดียวไม่ได้ผล

มีความพยายาม สร้างภาพ “มวลชน” เหล่านี้ให้น่ากลัว

ที่ร้อนแรงตอนนี้ก็คือการฟื้นผีคอมมิวนิสต์โดยนำวันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม มากล่าวหานี่คือการเลือกที่จะใช้แนวทางรุนแรง

ซึ่งตอนที่เขียนเรื่องอยู่ตอนนี้ เป็นช่วงก่อนเวลานัดของมวลชน จึงมีแต่ข่าวตู้คอนเทนเนอร์ปิดถนนตรงนั้นตรงนี้ ยังไม่รู้ว่าจะมีเหตุรุนแรงอะไรหรือไม่

แต่ก็นั่นแหละถึงจะรุนแรง กระนั้นก็คงห่างไกลจากความรุนแรง ที่เป็นการหยิบอาวุธขึ้นมาทำสงครามประชาชนเหมือนในอดีต

ปัจจุบันยังอยู่ในระดับ “สงครามความคิด” มากกว่า

เมื่อเป็นสงครามความคิด การจะเอาชนะได้ ก็ต้องเป็นสงครามความคิดเช่นกัน

บทเรียนของสังคมไทยก็มีให้เรียนรู้ นั่นก็คือเอาการเอาชนะสงครามประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์

รัฐบาลไทย เอาชนะ “เสียงปืนแตก” มิใช่การสู้รบ

แต่เป็นการเอาชนะทางความคิด ใช้การเมืองนำการทหาร

ขจัดเงื่อนไขความยากจน ความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่า

คำถามก็คือแล้วผู้กุมอำนาจ ได้เรียนรู้ ได้ขจัดเงื่อนไขเหล่านั้นหรือไม่

หรือมีแต่เพิ่ม

“เครือข่ายไล่” จึงปราบอย่างไรก็ไม่หมด

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image