สถานีคิดเลขที่ 12 : ลอยนวล!? โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : ลอยนวล!? รัฐบาลเตรียมการออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด

รัฐบาลเตรียมการออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในการรักษา พยาบาลผู้ป่วยโควิด
เรียกกันภาษาสื่อว่า กฎหมายนิรโทษกรรม

แต่แค่เผยแพร่เนื้อหา สาระ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวางอื้ออึง
นักวิชาการและฝ่ายค้าน ออกโรงทักท้วง
ไม่เห็นด้วยอย่างที่จะเขียนให้ความคุ้มครอง ครอบคลุม ฝ่ายบริหาร บุคคล คณะบุคคล ผู้มีหน้าที่ในการจัดหา บริหารวัคซีน ให้ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ในความผิดทางแพ่ง อาญา ความผิดใดๆ ก็ตาม
เรียกร้องทบทวน

จำกัดวงคุ้มครองเฉพาะบุคลากรสาธารณสุข หมอ พยาบาล อสม. อาสาสมัครเฉพาะกิจ บุคลากรด่านหน้าทั้งหลาย ผู้ให้การรักษา พยาบาลผู้ป่วยโควิดเท่านั้น
เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญและจำเป็น ในการต้องปกป้องคนทำงาน บุคลากร ฝ่ายปฏิบัติ มิให้ถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา วินัย ละเมิดใดๆ ทั้งสิ้น
ต้องการให้ตัด ‘คณะผู้จัดหาวัคซีน’ ออก

การจัดหาวัคซีนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกตีตราว่าผิดพลาด ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ทำให้ปัญหาบานปลาย เกิดการระบาดอย่างกว้างขวาง ประชาชนล้มป่วยกว่า 2 แสนคน ดับอีกกว่า 5 พันชีวิต โดยยังไม่มีทีท่าจะควบคุมการระบาดได้
บุคคล หรือคณะบุคคล ผู้จัดหาวัคซีน ตกเป็นจำเลย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือเป้าใหญ่สุด ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้กำหนดทิศทาง

Advertisement

มีผู้คนเรียกร้องให้รับผิดชอบ
ไม่เพียงแต่ไม่สนองตอบ และไม่มีคำขอโทษ
แต่กลับจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม คุ้มครองบุคคล หรือคณะบุคคล ผู้จัดหาวัคซีนอีก
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใด ที่มีผู้คัดค้านการเหมาเข่งนิรโทษกรรม

ยกนายกฯและใครต่อใครบริสุทธิ์ผุดผ่อง อย่างไม่ต้องเข้าสู่กระบวนพิสูจน์ถูก ผิดให้มากความ
เนื่องจากการคุ้มครองคณะจัดหาและบริหารวัคซีน
จะปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวกับนายกฯคงยาก

ยกตัวอย่าง หากดูองค์ประกอบ ประธานคณะกรรมการจัดหา และคณะทำงาน ที่ ‘บิ๊กตู่’ ลงนามแต่งตั้ง 9 เมษายน 2564
มีนายแพทย์ใหญ่ ข้าราชการประจำ หมอผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน และใครต่อใครมากหน้าหลายตา เป็นประธานและคณะทำงาน
แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ ผู้ลงนามแต่งตั้ง ภารกิจคือทำงานตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

Advertisement

ถามว่า อำนาจหน้าที่ ที่มีที่กำหนดไว้คือ เสนอแนวทางและมาตรการในการจัดหาวัคซีนสำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือก เพื่อนำไปใช้ในสถานพยาบาลเอกชนนั้น
ในความเป็นจริงเมื่อคณะกรรมการได้ข้อยุติ คนที่ตัดสินใจจริงๆ ขั้นสุดท้ายคือใคร
มิใช่นายกฯหรอกหรือ

เพราะตามคำสั่งอีกเหมือนกัน ก็ระบุไว้ ข้อมูลที่ได้ แนวทางและมาตรการจัดหาวัคซีนอันมาจากข้อสรุปของคณะกรรมการนั้น ในที่สุดก็จะเป็นเพียงแค่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการจัดหาวัคซีน ของหน่วยเหนือกว่านั้น
คนตัดสินใจจริงๆ คือใคร

ก็แน่นอนว่า ย่อมเป็นฝ่ายนโยบาย ฝ่ายการเมือง ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
ฉะนั้น การเขียนให้ความคุ้มครอง ครอบคลุม บุคคล หรือคณะบุคคล ผู้มีหน้าที่ในการจัดหาวัคซีน
หากไม่ตัดตอนก็อาจมีกระบวนการที่พิสูจน์ได้ว่า ผู้นั้นคือนายกฯ

ขณะที่การ ‘บริหารวัคซีน’ ซึ่งได้รับการคุ้มครองด้วยนั้น ค่อนข้างชัดเจน อยู่ในมือ ศบค. อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการ
นั่นหมายความว่า ตามพิมพ์เขียว พ.ร.ก.ฉบับนี้ นายกฯได้รับความคุ้มครองให้ไม่ต้องรับผิดด้วยหรือไม่

คำถามนี้ เป็นที่มาของการคัดค้าน การออก พ.ร.ก.นิรโทษเหมาเข่ง
ว่าไม่สมควรคุ้มครองฝ่ายนโยบาย
แต่ถูก-ผิด ต้องไปต่อสู้ พิสูจน์ตัวในกระบวนการยุติธรรมตามปกติ

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image