สถานีคิดเลขที่ 12 : อดีตบอกปัจจุบัน

สถานีคิดเลขที่ 12 : อดีตบอกปัจจุบัน

สถานีคิดเลขที่ 12 : อดีตบอกปัจจุบัน

ความขัดแย้งระหว่างเยาวชนคนรุ่นใหม่ กับรัฐบาลชุดปัจจุบันและเครือข่ายอำนาจทั้งหลายที่เป็นฐานสนับสนุน ซึ่งปะทุขึ้นมามีการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 และกลับมาร้อนแรงอีกหนในช่วงระยะนี้

ความรุนแรงที่เกิดบนท้องถนนเกือบทุกวัน ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับม็อบหนุ่มสาว เริ่มทำให้คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามอย่างไม่สบายใจว่า จะจบได้อย่างไรและเมื่อไหร่

หลักๆ ก็เป็นไปได้ 2 ทาง คือ หาทางพูดคุยข้อเรียกร้อง เพื่อคลี่คลายอย่างนุ่มนวล หรือไม่เช่นนั้นก็รุนแรงแข็งขันใส่กันจนไปสู่การแตกหัก

Advertisement

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของสังคมไทยเรา ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่ม หรือขบวนการประชาชนมาแล้วหลายครั้ง หลายกรณี แต่แทบไม่ค่อยได้เห็นท่าทีการยอมลดราวาศอกของรัฐไทยแต่อย่างใด

เพราะรากฐานของเครือข่ายอำนาจในสังคมไทยเรานั้น คือ ฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง มีแนวโน้มเป็นเผด็จการขวาจัด

อย่างกรณีความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เรามักหลงไปกับการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายรัฐ มองภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่า มาจากพวกโจรใต้ ต้องการแบ่งแยกดินแดนของประเทศไทยเราออกไป สร้างความรู้สึกชาตินิยมเพื่อปกคลุมปัญหาที่แท้จริง

Advertisement

ในระยะหลังเริ่มมีการพูดถึงต้นตอปัญหาไฟใต้จริงๆ โดยย้อนไปมองชีวิตและการต่อสู้ของหะยีสุหลง ผู้นำความคิดของคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ถูกจับกุมคุมขังในปี 2491 ข้อหาเป็นหัวโจกแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่ขณะนั้นยังไม่มีการก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านรัฐแต่อย่างใด

เหตุที่กลายเป็นพวกแนวคิดแบ่งแยกดินแดน เพราะการยื่นข้อเสนอ 7 ข้อต่อรัฐบาล เกี่ยวกับการปกครอง ภาษา ศาสนา เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

จนปี 2495 จึงพ้นโทษออกจากเรือนจำ แล้วหายสาบสูญไปอีกครั้ง ในวันที่ 13 สิงหาคม 2497

ความจริงปรากฏต่อมาว่า โดนเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มฆ่า แล้วถ่วงศพทิ้งในทะเลสาบสงขลา

จากคนที่จัดทำข้อเสนอ 7 ข้อ แล้วกลายเป็นนักแบ่งแยกดินแดน แล้วถูกขังคุกอยู่ 4 ปีเศษ เท่านั้นยังไม่พอ ยังเอาไปฆ่าทิ้งทะเลอีก

ผลก็คือ ได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วพื้นที่ จุดชนวนการต่อสู้ให้กับคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จนกระทั่งเกิดกองกำลังพูโล บีอาร์เอ็น ใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ ตั้งแต่ราวปี 2511

จนปี 2547 ไฟใต้รอบหลังสุดได้ปะทุขึ้น แล้วดับไม่ได้จนถึงวันนี้

ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พยายามพลิกแนวทางการแก้ปัญหาไฟใต้ ด้วยการตั้งคณะกรรมการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอย่างเป็นจริงเป็นจัง ด้านหนึ่งเพื่อลบล้างความผิดพลาดในยุคทักษิณ

อีกด้านเป็นแนวทางของรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีแนวโน้มก้าวหน้ากว่ารัฐบาลประเภทมีอดีตผู้นำทหารรับเชิญมาเป็นนายกฯ

แต่ลงเอยรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดนล้มด้วยรัฐประหาร หลังจากนั้นการพูดคุยเจรจาที่ยังมีต่อ แต่ก็เหมือนไม่มี

หากคิดทบทวนให้ดี เพราะรัฐที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม ไม่ยอมรับข้อเสนอจากผู้ที่คิดแตกต่าง แถมยังใช้กฎหมาย ใช้อำนาจเข้าจัดการ หวังให้สยบยอม

ผลที่ตามมาคือ ความขัดแย้งนั้นมีแต่พัฒนาไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งรัฐเองก็ไม่อาจใช้การปราบปรามเข้าไปหยุดยั้งได้ กลายเป็นสงครามไฟใต้อันยืดเยื้อ สูญเสียไร้ความสงบไม่สิ้นสุด

จนมาถึงกรณีม็อบคนรุ่นใหม่ ที่กลายเป็นความไม่สบายใจของคนทั้งสังคม หวั่นเกรงจะพัฒนาไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น

แทนที่จะศึกษาทบทวนประวัติศาสตร์ ว่ากรอบคิดแบบโบราณล้าหลัง ใช้แต่กฎหมายและอำนาจจัดการไปเรื่อยๆ นอกจากจัดการไม่ได้แล้ว ยังบานปลายแน่นอน

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image