สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ม็อบ’ หลายสาย โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ม็อบ’หลายสาย โดย ปราปต์ บุนปาน

ดูเหมือนตอนนี้ จะมี “ม็อบ” ต่อต้านรัฐบาล เกิดขึ้นหลายสาย

แม้แกนนำของ “ม็อบ” ที่อาจเรียกรวมๆ ได้ว่า “ม็อบคนรุ่นใหม่” จะถูกลดทอนพลังลงไป ด้วยอาวุธทางกฎหมายและยุทธวิธี “จับเข้าคุก”

แต่กระบวนการใช้อำนาจเช่นนั้นก็มิอาจระงับยับยั้งพลวัตและการดำรงอยู่ของ “ม็อบ” สายอื่นๆ

อย่างน้อยที่สุด สังคมยังได้รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวแบบ “คาร์ม็อบ” ที่ริเริ่มโดย “บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์” ซึ่งถูกขยับขยายกลายเป็น “ม็อบคาร์ปาร์ก” โดย “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ”

Advertisement

สองแกนนำคนสำคัญพยายามอธิบายว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อขยายแนวร่วม มีจุดยืนสันติวิธี และมีข้อเรียกร้อง “ลำดับแรกสุด” คือ การ “ไล่ประยุทธ์”

แม้ “คาร์ม็อบ-คาร์ปาร์ก” ในแบบ “ณัฐวุฒิ-บก.ลายจุด” จะไม่แนบสนิทกับ “ม็อบคนรุ่นใหม่” และอาจไม่ลงรอยกับมวลชนกลุ่มอื่นๆ เสียทีเดียว

แต่ก็ถือเป็น “ม็อบ” ที่ผลักดันให้ขบวนเคลื่อนหน้าไปได้ระดับหนึ่ง

จุดน่าเป็นห่วงจริงๆ กลับอยู่ตรง “สมรภูมิสามเหลี่ยมดินแดง” หรือการปะทะกันระหว่าง “เจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ.” กับ “ผู้ชุมนุมกลุ่มที่พร้อมบวก”

ซึ่งกลายสภาพเป็นสถานการณ์รุนแรงตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกเหนือจาก “ภาพความรุนแรง” แล้ว ยังมีอะไรอื่นๆ ที่เร้นแฝงอยู่ในสมรภูมิดังกล่าว

หลายคนอาจพอสังเกตได้ว่าผู้ชุมนุมที่พร้อมจะปะทะกับตำรวจนั้น ไม่ได้มีภาพลักษณ์เป็นนักศึกษาปัญญาชนหรือ “ผู้นำม็อบรุ่นใหม่”

หลายคนคุ้นตากับภาพการรวมตัวสัญจรด้วยยานพาหนะ “มอเตอร์ไซค์” ของพวกเขา

แต่สุดท้าย ก็ไม่เคยมีใครเข้าไปสำรวจอย่างจริงจังว่าผู้ชุมนุมเหล่านั้นคือใคร?

พวกเขาคือ “คนชั้นกลางระดับล่าง” ในเมืองหลวง ที่ไม่พอใจโครงสร้างทางการเมืองอันไม่เป็นธรรม, โกรธแค้นที่ตนเองต้องเสี่ยงชีวิตและทำมาหากินอย่างยากลำบากท่ามกลางการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดอันล้มเหลว และเดือดดาลยิ่งขึ้น เมื่อเจอแก๊สน้ำตาและกระสุนยางของเจ้าหน้าที่

ใช่หรือไม่?

ขณะเดียวกัน “ต้นทุน” บางประการของ “ตำรวจไทย” ก็กำลังระเหยหายไปโดยไม่รู้ตัว

ป้ายประกาศตนเป็น “คนดี” (เพื่อจัดการกับ “ม็อบที่ไม่ดี”) ได้ฉุดลากข้าราชการตำรวจเข้าไปอยู่ในโครงสร้างความขัดแย้งที่พวกเขาไม่เคยมีส่วนร่วมมาก่อน (ตลอดหลายปีที่ผ่านมา)

นั่นคือโครงสร้างทางการเมืองที่แบ่งแยก “คนดี” ออกจาก “คนเลว” ซึ่งดูจะสอดคล้องกับวิถีปฏิบัติและวิธีคิดของสถาบัน-หน่วยงานราชการจำนวนหนึ่งที่แยกขาดตัวเองออกจากประชาชนอย่างสิ้นเชิง

ทว่า “โลกของตำรวจ” นั้นคือโลกที่ต้องคลุกคลีกับประชาชนและเรื่องราวดีๆ ชั่วๆ ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้ “ตำรวจ” จึงยากจะหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์ “สีเทา” ซึ่งมีทั้งด้านมืดและด้านสว่างปะปนกันไป

นอกจากนั้น ในความขัดแย้งทางการเมืองเกือบสองทศวรรษหลัง “ตำรวจไทย” ก็ไม่ได้ถูกประทับตราว่าเป็น “ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย” อยู่ตลอดเวลา

การมีอดีตนายกฯ คนหนึ่งเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ ส่งผลให้ตำรวจจำนวนไม่น้อยถูกมองเป็น “ตำรวจมะเขือเทศ”

สังคมไทยเคยมี “ฮีโร่ตำรวจเตะระเบิด” ซึ่งต้องสูญเสียขาระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในการเผชิญหน้ากับ “ม็อบล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”

แม้กระทั่งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา ถ้านับกันเฉพาะบัตรลงคะแนนของข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ก็ไม่แน่นักว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด

การใช้ไม้แข็งกับผู้ชุมนุมของตำรวจ คฝ. กำลังส่งผลให้ “ต้นทุน” ข้างต้น ทั้งเรื่องความสัมพันธ์สลับซับซ้อนกับประชาชน และความโน้มเอียงมายังระบอบประชาธิปไตย ค่อยๆ สูญสลายไป

แล้วผลักให้ “ตำรวจ” กลายเป็น “คนดี” ของฝ่ายหนึ่ง และเป็น “ศัตรู” ของอีกฝ่าย

เหล่านี้คือความเคลื่อนไหวของ “ม็อบหลายสาย” ณ ปัจจุบัน

ที่แม้จะยังมิได้มีเป้าหมายอันเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว

แต่ไม่มีกล้าปฏิเสธว่าทั้งหมดนี้เป็นอาการป่วยไข้อันเกิดจากสาเหตุหลักร่วมกัน

นั่นคือความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image