สถานีคิดเลขที่ 12 : รธน.เพื่อใคร

รวมทั้งสิ้น 6 มาตรา

สถานีคิดเลขที่ 12 : รธน.เพื่อใคร

การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2-3 จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้
หากจำกันได้ความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นเกิดขึ้นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล

ตอนที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ประท้วง และผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร.เลือกตั้ง

รัฐสภาทำทีเหมือนเห็นด้วย แต่สุดท้ายก็โหวตคว่ำทิ้งไป

Advertisement

ต่อมารัฐสภาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง คราวนี้หันมาเน้นสิ่งที่ “การเมือง” ต้องการ

นั่นคือแก้ไขระบบการเลือกตั้ง

มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอให้พิจารณา 13 ร่าง รัฐสภาโดยเสียงข้างมากผ่านหลายร่าง

Advertisement

แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดต้องให้ ส.ว.ที่มาจาก คสช.เห็นด้วย 1 ใน 3

ผลที่สุด ส.ว.เห็นด้วย 1 ใน 3 แค่ร่างเดียว นั่นคือ ร่างที่ 13 เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์

ร่างฉบับนั้นเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91

แค่นั้น !

พอผ่านเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการจึงเกิดปัญหา เพราะหากจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ปฏิบัติได้จริงต้องแก้ไขมาตราอื่นๆ ด้วย

แต่ร่างที่เสนอให้แก้ไขมาตราอื่นๆ ครบถ้วนนั้นไม่ผ่านการรับรองจากรัฐสภา

ปัญหาเกิดขึ้น โดยที่คณะกรรมาธิการยืนยันว่า แม้จะไม่ได้ระบุครบถ้วนแต่ถ้าเกี่ยวโยงกับมาตราที่แก้ไขก็สามารถดำเนินการได้

ในที่สุดคณะกรรมาธิการก็เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

มีเนื้อหาแก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91

แก้ไขตามที่รัฐสภามีมติเมื่อวาระ 1 รับหลักการ

แต่ไม่ได้แก้ไขเพียงเท่านั้น กรรมาธิการยังเสนอให้แก้ไขมาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 92 และมาตรา 94 ด้วย

พอย้อนกลับไปดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนเริ่มแรกที่แต่ละพรรคการเมืองนำเสนอ

พบว่า ร่างที่ 1 เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ เสนอให้แก้ไขเฉพาะประเด็นระบบเลือกตั้ง

มาตราที่ต้องแก้ไขประกอบด้วย มาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 94

นอกจากนี้ยังมีร่างที่ 3 เสนอโดยพรรคเพื่อไทย เสนอให้แก้ไขมาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 ยกเลิกมาตรา 93 และมาตรา 94

ตรงกับมาตราที่คณะกรรมาธิการเสนอแก้ไข และกำลังเข้าสู่การพิจารณารัฐสภาในสัปดาห์นี้

ดูจากมาตราที่แก้ไข เท่ากับว่าตอนรับร่าง มติที่ประชุมจะแก้ไข 2 มาตรา

แต่พอเข้าคณะกรรมาธิการกลับจะแก้ไขมาตราอื่นๆ ด้วย รวมทั้งสิ้น 6 มาตรา

โดยมาตราที่แก้ไขเพิ่มนั้นเป็นมาตราที่รัฐสภาเคยไม่เห็นด้วยให้แก้ไขในวาระ 1

มันก็เลยสับสน

แล้วผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยังสอดคล้องกับเจตนาของร่าง 1 และร่าง 3 ในเรื่องบัตรเลือกตั้ง

ยิ่งอดไม่ได้ที่จะมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

แก้ไขเพื่อใคร?

เพราะการเปลี่ยนแปลงการใช้บัตรเลือกตั้งและการคำนวณจำนวนนั้นมีผลได้ผลเสียต่อพรรคการเมือง

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องการเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งจากใบเดียว เป็น 2 ใบ

เปลี่ยนแปลงเกณฑ์คำนวณจากรัฐธรรมนูญปี 2560 กลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญปี 2540

ผลจากการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะส่งผลต่อการเลือกตั้ง

ดังนั้น ทั้งเรื่องแก้ไขมากกว่ามาตราที่ลงมติในวาระ 1

ทั้งถ้อยคำถ้อยความในการแปรญัตติ

ทั้งท่าทีพรรคใหญ่ กลาง เล็ก และวุฒิสภา

ทุกจังหวะก้าวล้วนน่าสนใจ

เพราะนี่คือสัญญาณของการเมืองในอนาคตที่ต้องเฝ้าติดตาม

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image