สถานีคิดเลขที่ 12 : อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย? โดย ปราปต์ บุนปาน

อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย?

สถานีคิดเลขที่ 12 : อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย? โดย ปราปต์ บุนปาน

หลายคนอาจมองหรือให้ค่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าเป็นเพียง “พิธีกรรมทางการเมือง” ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีขึ้นเป็นวาระพอเป็น “พิธี” โดยไม่ส่งผลสะเทือนใดๆ ต่อสถานภาพของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล

ผลต่อเนื่องที่พอจะจับต้องได้ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “รัฐบาลประยุทธ์” ครั้งที่ผ่านๆ มา ก็คือ คะแนนซึ่งไม่เท่ากันของรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปราย หรือเรื่องระหองระแหงเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างสมาชิกในพรรคร่วมรัฐบาล

คำถามคือมีปัจจัยใดบ้างที่จะผลักดันให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้มีความแตกต่างจากเดิม หรือสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดที่แล้วๆ มา?

ปัจจัยแรก คือ วิกฤตสังคมการเมืองระลอกปัจจุบัน ได้พิสูจน์ให้เห็นประการหนึ่งว่า นอกจากรัฐบาลจะถูกมองว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพและเดินตามหลังสถานการณ์อยู่เสมอแล้ว ผู้มีอำนาจยังมักถูกขับเคลื่อนด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือ “การด่า” ของสาธารณชนและสื่อมวลชน

Advertisement

เป็น “เสียงด่า” ที่ทำให้รัฐบาลต้องขยับเขยื้อนลงมือทำอะไรบางอย่าง

เป็น “เสียงด่า” ที่ทำให้รัฐบาลต้องยุติระงับหรือเลิกทำอะไรบางเรื่อง

เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงปลายเดือนสิงหาคมต่อต้นเดือนกันยายน 2564 คือโอกาสที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้พิสูจน์ศักยภาพความเป็น “เครื่องด่า” ของตนเอง ว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้มากน้อยขนาดไหน

Advertisement

ในภาวะที่ผู้นำประเทศและรัฐบาลมี “บาดแผลฉกรรจ์” เหวอะหวะเยอะแยะเต็มไปหมด

ทั้งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด การจัดหา-จัดฉีดวัคซีนคุณภาพสูงให้แก่ประชาชน และการจัดทำมาตรการดูแล-เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในภาคส่วนต่างๆ อันเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง

รวมถึงภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ไม่อาจมองข้าม

นอกจากนั้น สถานการณ์วิกฤตเรื้อรัง ยังทำให้คนทั้งสังคมเริ่มมองเห็นว่าอะไรคือ “สิ่งไม่จำเป็น” หรือ “ส่วนเกิน” ที่เกาะกินประเทศอยู่ โดยปรากฏภาพสะท้อนผ่านการจัดทำ
งบประมาณ เรื่อยไปยังกรณีฉาวโฉ่ในคดี “ผู้กำกับโจ้”

นี่จึงเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านต้องแบกรับความทุกข์ร้อน-ความโกรธแค้น-ความคาดหวังมากมายของผู้คนเอาไว้บนบ่า

อีกด้านหนึ่ง เอาเข้าจริง การอภิปรายไม่ไว้วางใจเที่ยวนี้ อาจเป็น “โอกาสทางการเมืองครั้งท้ายๆ” ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งระยะหลังๆ เลือกจะเพลย์เซฟ เก็บตัว อยู่เงียบๆ มากกว่าออกมาพูดสัมภาษณ์รายวัน เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้แบบง่ายๆ

ข้อดีของกลยุทธ์ข้างต้นคือหัวหน้ารัฐบาลทำเรื่องพลาดน้อยลง แต่ข้อเสียที่ปรากฏขึ้นก็คือการถูกตำหนิว่าเป็นผู้นำประเทศที่ไม่ลุย ไม่เดินหน้าชนปัญหา ไม่ทำงานอย่างแข็งขัน

การลุกขึ้นตอบโต้ชี้แจงคำอภิปรายของฝ่ายค้าน จึงอาจเป็น “โอกาส” ให้นายกฯ ได้พิสูจน์ว่าตนเองยังพอมีกึ๋น ยังพอมีศักยภาพในการเป็นผู้นำประเทศเหลืออยู่บ้าง

ไม่มีใครปฏิเสธว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสัปดาห์นี้ ล็อกเป้าหมายอยู่ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นหลัก

และนี่ก็จะเป็นเวทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลุกขึ้นมาปกป้องแก้ต่างให้ตนเองในฐานะของ “นายกรัฐมนตรี” อย่างเต็มที่

ท่ามกลางสถานการณ์-บริบทที่สถานภาพของ “นายกรัฐมนตรี” กับบทบาท-อำนาจทางการเมืองของ “พรรคพลังประชารัฐ” อาจแยกขาดออกจากกัน

กล่าวคือแม้โครงข่ายกฎกติกา รากฐานอำนาจ ตลอดจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นระบบเลือกตั้ง จะส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐสามารถอยู่รอดปลอดภัยไปได้ (หรืออาจยิ่งใหญ่กว่าเดิม)

ทว่าคำถามที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้นั่งเก้าอี้ผู้นำรัฐบาลต่อไปอีกนานแค่ไหน?

คำตอบบางส่วนของคำถามนี้จะขึ้นอยู่กับการแสดงวิสัยทัศน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image