สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเมือง’คือความไม่แน่นอน โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเมือง’คือความไม่แน่นอน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเมือง’คือความไม่แน่นอน โดย ปราปต์ บุนปาน

“การเมือง” คือความไม่แน่นอน ซึ่งไม่อาจคาดการณ์ทำนายอนาคตได้อย่างแจ่มชัดร้อยเปอร์เซ็นต์
ประการหนึ่งเพราะ “อำนาจทางการเมือง” นั้นไม่เข้าใครออกใคร
อีกประการหนึ่งย่อมเป็นเพราะถึงที่สุดแล้ว “การเมือง” คือการต้องย้อนกลับไปรับฟังเสียงของประชาชน

กรณีคำสั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ และ รมช.แรงงาน คือตัวอย่างที่ดีของสภาวะอันไม่แน่นอนและกลเกมอันซับซ้อนยอกย้อน ซึ่งนำไปสู่อนิจลักษณ์ของ “อำนาจ”

แต่ก็พึงตั้งคำถามต่อว่าเรากำลังเพ่งพินิจพิจารณา “อำนาจ” จากมุมไหน?

หากมองจากทิศทางบนลงล่าง มองจากแสงเทียน ณ จุดศูนย์กลางที่พยายามส่องสว่างไปยังปริมณฑล

Advertisement

เราก็อาจเห็นความพยายามจะรวบ-กระชับอำนาจในพรรคพลังประชารัฐและสภาผู้แทนราษฎรของนายกรัฐมนตรี

นอกจากนั้น เรายังอาจเห็นรัศมีแห่งความเป็นคนดีเลิศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ค่อยๆ ส่องแสงเบียดขับ “นักการเมือง-นักเลือกตั้ง” ซึ่งมีลักษณะ “สีเทา-ไม่สะอาด-หักหลัง” ให้หลุดพ้นออกจากวงโคจร

อย่างไรก็ตาม “อำนาจ” ใดๆ ในโลกหล้าล้วนมิได้เคลื่อนไหวเพียงทิศทางเดียว

Advertisement

โดยหากเรามองกรณีปลด “ธรรมนัส-นฤมล” ในทิศทางจากล่างขึ้นบน หรือมองจากความมืดสลัวแถบปริมณฑลเข้าไปสู่ศูนย์กลางอันสว่างจ้า

เราก็อาจได้พบเห็นสภาพความเป็นก๊กเป็นชุม-อาการปริร้าว ที่เกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ รัฐบาล หรือแม้กระทั่งกลุ่ม “3 ป.”

ขณะเดียวกัน ภาพนักการเมืองที่ถูกเขี่ยทิ้งตามรายทางและความเคลื่อนไหวของพวกเขาก่อนหน้านั้น อาจแสดงให้เห็นถึง “อำนาจ” จากเบื้องล่าง-รอบนอกที่กำลังพยายามกร่อนเซาะกัดกินท้าทายเบื้องบน-ศูนย์กลาง

และดีไม่ดี ความพังทลายของฝ่าย/กลุ่มหนึ่ง ก็อาจเป็นการทำนายอนาคตทางการเมือง ณ เบื้องท้ายของอีกฝ่าย/กลุ่ม ล่วงหน้า

ในอีกด้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และวิธีคำนวณคะแนน-ที่นั่งในแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเพิ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ผ่านการสนับสนุนของพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ก็กำลังโยนความท้าทายกลับไปอยู่ในมือประชาชน

บางฝ่ายเชื่อว่าการกลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง 2540 จะเอื้อให้พรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถประสบชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ได้ พอๆ กับที่พรรคพลังประชารัฐก็อาจจะประสบความสำเร็จในระบบดังกล่าว

ขณะที่คำอธิบายเรื่องการลงคะแนนแบบ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ใช่” (เลือก ส.ส.เขตจากพรรคหนึ่ง และเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อจากอีกพรรค) ตลอดจนวิธีคำนวณคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 100 ที่นั่ง ก็ดูจะไม่ได้มอบหลักประกันที่มั่นคงสำหรับพรรคการเมืองขนาดกลาง-เล็กสักเท่าไหร่

อย่างไรก็ดี น่าตั้งคำถามว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในปัจจุบันนั้นยังมีวิธีคิดแบบเลือกคนพรรคหนึ่งเลือกปาร์ตี้ลิสต์อีกพรรคอยู่จริงๆ หรือ? หรือประชาชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะกากบาทเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไปในบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ?

น่าตั้งคำถามด้วยว่าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งของฝั่งประชาธิปไตยจะสามารถคว้าชัยแบบแลนด์สไลด์ได้จริงหรือไม่? เมื่อตัวแทนของฝ่ายนี้มีอยู่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เพียงพรรคเดียวเหมือนดังแต่ก่อน

พรรคพลังประชารัฐดูจะมีศักยภาพน่าจับตาภายใต้เงื่อนไขของการเลือกตั้งระบบนี้ ถ้าพรรคมีสภาพเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียว

ทว่ากรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับ 2 รมช. นั้นบ่งชี้ว่าพรรคการเมืองพรรคนี้มีความเข้มแข็งพร้อมลงสนามเลือกตั้งหรือบ่งบอกว่าพรรคกำลังจะถึงคราววงแตกกันแน่?

นี่คือภาพอนาคตที่ยังไม่ชัดเจนแน่นอนภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image