สถานีคิดเลขที่ 12 : 15 ปี รัฐประหาร 19 กันยาฯ โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : 15 ปี รัฐประหาร 19 กันยาฯ โดย ปราปต์ บุนปาน

“รัฐประหาร 19 กันยายน 2549” มีสถานภาพเป็นทั้งการ “คิดสั้น” และ “คิดยาว” ในทางการเมือง

ด้านหนึ่ง ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ซึ่งไม่เชื่อมั่นในอำนาจการตัดสินใจของประชาชน ย่อมต้องมองเห็นปัญหาการเมืองบางอย่างที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคต (ของขณะนั้น ซึ่งหมายถึงปัจจุบันของห้วงเวลานี้)

ดังนั้น พวกเขาจึงต้องตัดสินใจลงมือทำอะไรสักอย่าง ซึ่งลงเอยด้วยการตัดตอนประชาธิปไตย ผ่านการนำกำลังทหาร-อาวุธ ออกมาก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม การพยายามจะ “คิดยาว” กลับกลายเป็นการ “คิดสั้น” เพราะคณะรัฐประหารดังกล่าวคาดไม่ถึงว่าลัทธิประชาธิปไตยได้หยั่งรากลึกลงในผืนดินของสังคมไทยไปมากพอสมควรแล้ว

Advertisement

“รัฐประหาร 19 กันยาฯ” จึงกลายเป็นเพียง “รัฐประหารเสียของ” เป็น “the empire ที่strikes back ไม่ได้” ซึ่งยืนยันด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า พรรคการเมือง “ขั้วทักษิณ ชินวัตร” สามารถกลับมาชนะเลือกตั้ง และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกถึงสองรอบ

มิหนำซ้ำ รัฐประหารหนนั้นยังสร้างมลทินแก่ยุคสมัยอันยิ่งใหญ่ ด้วยการก่อให้เกิด “โรคเรื้อรังทางการเมืองชนิดใหม่” นั่นคือ สงครามทางความคิด-ความเชื่อ-อุดมการณ์ระหว่างมวลชนสองกลุ่ม ซึ่งค่อยๆ คลี่คลายจากการปะทะกันระหว่าง “เสื้อเหลืองกับเสื้อแดง” ไปสู่ “สลิ่ม-นกหวีดกับเสื้อแดง”

นั่นคือความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามในหมู่ประชาชน ซึมลึกถึงระดับครอบครัว และที่น่าเสียใจที่สุด คือ การต้องมีผู้สังเวยชีวิตเป็นจำนวนมากให้แก่สงครามอุดมการณ์ดังกล่าว โดยปราศจากคนรับผิดชอบ

Advertisement

“รัฐประหาร 19 กันยายน 2549” ยังนำไปสู่มรดกสำคัญ คือ “รัฐประหาร 23 พฤษภาคม 2557”

เช่นเดียวกับการยึดอำนาจครั้งก่อนหน้า “รัฐประหาร 2557” นั้นพยายาม “คิดยาว” ด้วยการสานต่อภารกิจที่ คมช. เคยทำไว้แต่ล้มเหลว นั่นคือการค้ำประกันให้เครือข่ายชนชั้นนำไทยมั่นใจว่าพวกเขาจะเผชิญหน้าอนาคตอย่างราบรื่นมั่นคง

แต่การฆ่าตัดตอน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็ถูกพิสูจน์ว่าเป็นเพียงการ “คิดสั้น” อีกหน ด้วยผลลัพธ์ในมุมกลับที่แตกต่างไปจากเดิม

ในสนามเลือกตั้งภายใต้กฎกติกาที่ดีไซน์มาเพื่อพรรคการเมืองของคณะรัฐประหารโดยเฉพาะ สังคมไทยกลับมีพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งผลิบานขึ้นมาเพิ่มเติมความหลากหลายให้แก่กระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

บนท้องถนนและตามสื่อใหม่ทางอินเตอร์เน็ต คนรุ่นใหม่ที่กำลังตื่นตัวทางการเมืองได้รวมกลุ่มกันทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน

นี่เป็นมวลชนกลุ่มใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาอย่างท้าทายนิยามการต่อสู้เก่าๆ ซึ่งผูกพันอยู่กับ “สงครามเสื้อสี” จากปลายทศวรรษ 2540 ถึงกลางทศวรรษ 2550

เพราะ “เยาวรุ่น” ที่กระตือรือร้นทางการเมืองในยุคปัจจุบัน ก็คือ ลูกหลานคนเสื้อเหลือง-สลิ่ม-นักปฏิรูปเป่านกหวีด ผู้แหวกม่านความเชื่อ-อคติของคนรุ่นพ่อแม่มาอยู่ข้างประชาธิปไตยนั่นเอง

ในแง่ปริมาณ อาจถกเถียงกันได้ว่า “ประชาชนรุ่นใหม่ฝ่ายประชาธิปไตย” นั้นมีมากพอจะสร้างแรงสะท้านสะเทือนทางการเมืองได้หรือไม่?

แต่ในเชิงคุณภาพ หลายฝ่ายคงตระหนักร่วมกันว่าทัศนคติและการวิเคราะห์ปัญหาการเมืองไทยของบรรดาคนรุ่นใหม่ นั้นมีความลึกซึ้งกว่าคนรุ่นก่อนๆ มองเห็นอุปสรรคในระดับโครงสร้างได้กระจ่างชัดกว่าคนรุ่นก่อนๆ

ในวาระครบรอบ 15 ปี “รัฐประหาร 19 กันยาฯ” แม้ประเทศไทยอาจได้ผู้นำที่น่าผิดหวังและดำรงตำแหน่งอย่างยาวนานเกินศักยภาพ แม้เราอาจมีรัฐธรรมนูญที่วิปริตบิดเบี้ยว (และไม่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้งเพียงเท่านั้น) แม้เราต่างต้องเผชิญสถานการณ์โรคระบาดอย่างปราศจากความมั่นคงของชีวิต

ทว่าพวกเราอาจกำลังเดินหน้าเข้าสู่วาระครบรอบ “สองทศวรรษแห่งความสูญเปล่า” อย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง เมื่อได้มองเห็นพลังของคนรุ่นใหม่-คนหน้าใหม่ที่ไม่เคยสิ้นสุดหยุดนิ่ง

ขณะที่อำนาจนำทางวัฒนธรรมและความชอบธรรมทางการเมืองแบบเดิมๆ กลับมีอาการโทรมทรุดเสื่อมถอยลงทุกวัน

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image