สถานีคิดเลขที่ 12 : วันที่อยากให้ลืมเลือน โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : วันที่อยากให้ลืมเลือน โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สังคมไทยเรามีความแปลกประหลาดมากมายหลายอย่าง แต่เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งก็คือ การเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทย บรรจุในตำราเรียนให้เราท่องจำกันมายาวนาน ซึ่งต่อมาในภายหลังนักวิชาการประวัติศาสตร์
ยุคที่เน้นค้นหาข้อเท็จจริง ไม่เอาอคติชาตินิยมมากำหนด ได้ค้นพบข้อบกพร่องผิดพลาดมากมาย ไม่ตรงกับความเป็นจริงหลายประการ ต้องชำระสะสางกันยกใหญ่

แต่ก็นั่นแหละ คนรุ่นเก่าๆ ที่อยู่กับระบบการเรียนการสอนท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองในอดีต ป่านนี้ก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ยังหลงเข้าใจอยู่ว่า คนไทยเรามาจากเทือกเขาอัลไต

ความประหลาดของการบันทึกประวัติศาสตร์บ้านเราอีกอย่างก็คือ เหตุการณ์สำคัญๆ ยิ่งใหญ่ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง กลับไม่เคยได้รับการบันทึกเอาไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์ชาติ

ต้องให้ประชาชนอย่างเราๆ มาช่วยกันบันทึกเอาเอง จัดสร้างประวัติศาสตร์กันเอง เรียกกันว่า ฉบับประชาชน

Advertisement

อย่างเดือนนี้ เข้าสู่เดือนตุลาคม เป็นประจำสม่ำเสมอในทุกๆ ปี มีข่าวปรากฏให้ได้รับรู้กันกว้างขวาง สื่อทุกสื่อก็นำเสนอกันถ้วนหน้า

จะต้องมีงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ซึ่งเกิดเหตุเมื่อปี 2519 รวมทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่เกิดเหตุในปี 2516

แต่จะ 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ ไม่เคยได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการเป็นตำราเรียน ไม่เคยปรากฏในปฏิทิน

Advertisement

เหตุที่ไม่มีการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการ ก็อธิบายได้ง่ายๆ คือ กลุ่มผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ซึ่งไม่ใช่นักการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้ง แล้วได้เข้ามาเป็นรัฐบาล

หมายถึงกลุ่มผู้มีอำนาจนอกระบบประชาธิปไตย ที่ยังกุมกลไกต่างๆ เอาไว้มากมายในสังคมไทยเรา พยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้เหตุการณ์เหล่านี้เลือนหายไป

เพราะ 14 ตุลาคม คือ การลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนคนไทย นำโดยนิสิตนักศึกษาคนหนุ่มสาวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารในยุคนั้น แถมสามารถเอาชนะได้ด้วย ทั้งที่ต่อสู้ด้วย 2 มือเปล่า จิตใจห้าวหาญ ไม่เกรงกลัวกระสุนจริงที่ยิงจากทหารที่ออกมาปราบปรามการประท้วง

เป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ประเทศไทย พลิกโฉมบ้านเมืองจากยุคเผด็จการ เบิกม่านประชาธิปไตยได้สำเร็จ

เป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่รับรู้กันไปทั่ว มีการจัดงานรำลึกยกย่องวีรชนกันทุกปี

แต่ผู้มีอำนาจก็ยังไม่ยอมให้มีการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์เอาไว้ ไม่เคยยกย่องให้เป็นวันสำคัญของชาติ ประหลาดดีแท้

เช่นเดียวกับ 6 ตุลาคม 2519 คือ วันกวาดล้างขบวนการนักศึกษาประชาชน ด้วยหวาดกลัวที่เป็นขบวนการมีอิทธิพลผลักดันสังคม ภายหลังได้รับชัยชนะจาก 14 ตุลาคม ก็เลยต้องจัดการให้หมดสิ้นด้วยการก่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เข่นฆ่าอย่างเหี้ยมโหด

มีบันทึกพยานหลักฐานเอาไว้มากมาย มีการรำลึก มีการทวงหนี้เลือด ตามหาคนเข่นฆ่า คนเอาศพไปแขวนกับต้นมะขามสนามหลวงแล้วเอาเก้าอี้ฟาด

แต่ก็ไม่ยอมให้มีบันทึกใดๆ อย่างเป็นทางการ ไม่มีปรากฏเป็นวันสำคัญในปฏิทิน

ไม่เท่านั้น ยังมีวันการต่อสู้ในเดือนพฤษภาคม 2535 ที่เรียกว่า พฤษภาทมิฬ และวันสำคัญๆ อื่นอีกไม่น้อย ที่พยายามจะกลบเกลือนลบเลือนให้ได้

เพราะเป็นวันประวัติศาสตร์ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองโดยคนหนุ่มสาว โดยประชาชนคนธรรมดา

เข้าใจว่า คงหวาดกลัว ไม่อยากให้ประชาชนรวมพลังลุกฮือกันขึ้นมาอีก ไม่อยากให้ภูมิใจ ไม่อยากให้เอาเป็นแบบอย่าง

เอาเข้าจริงๆ เพียงแค่การไม่ยอมบันทึกประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของประชาชนดังกล่าวนี้

เป็นคำตอบได้ว่า ประเทศนี้ยังไม่ยินยอมให้ประชาชนมีความสำคัญใดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image