สถานีคิดเลขที่ 12 : หยุดแผลสด 6 ตุลา โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : หยุดแผลสด 6 ตุลา โดย ปราปต์ บุนปาน

ในโอกาสที่วาระรำลึกประวัติศาสตร์บาดแผล “6 ตุลาคม 2519” กำลังจะเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางความขัดแย้งใหญ่ของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย ที่ยังมิได้สูญสลายคลี่คลายลงไป

จึงขออนุญาตคัดลอกคำให้สัมภาษณ์ของ “ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล” ซึ่งแม้จะเผยแพร่ทางยูทูบช่องมติชนทีวีตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ทว่ายังสามารถใช้อธิบายสถานะของ “6 ตุลา” ได้อย่างแหลมคมและกระจ่างชัด

มานำเสนอซ้ำอีกหน ณ พื้นที่นี้

“ผมคิดว่าภาวะลืมไม่ได้จำไม่ลงจะหมดลงไปก็ต่อเมื่อเกิดความยุติธรรม ผมเคยเรียกนอกจากลืมไม่ได้จำไม่ลง ก็คือมันเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลใช่ไหมฮะ บาดแผลแปลว่าอดีตนี้ยังเจ็บปวด ไม่ใช่อดีตทุกอย่างจะเจ็บปวด ไม่ใช่ความโหดร้ายในอดีตทุกอย่างจะคงความเจ็บปวด

Advertisement

“การเสียกรุงฯ มีคนตายเยอะแยะ มันไม่ค่อยเจ็บปวด มันขึ้นอยู่กับว่าความทรงจำที่เจ็บปวดเหล่านั้นได้ปิดตัวลง มีคำอธิบายที่พอเหมาะพอสมหรือมันค้างคาเป็นแผลเป็น ไม่ใช่แผลเป็น ไม่ตกสะเก็ดด้วยซ้ำ มันยังแดงอยู่ ยังสดอยู่

“อดีตที่เป็นความรุนแรงที่ไม่สดแล้ว ตกสะเก็ดเรียบร้อยแล้ว สะเก็ดหายไปแล้ว มีเยอะแยะไป อดีตที่เป็นความรุนแรง ไม่ใช่แปลว่าจะต้องเจ็บปวดเสมอไป ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลเสมอไป

“แต่ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ผมใช้ ผมหมายถึงอดีตที่แผลมันยังสดอยู่ 6 ตุลา แผลยังสดอยู่ เพราะความยุติธรรมมันยังไม่เกิด เพราะมันยังเป็นอดีตที่ปิดตัวลงไม่ได้ มันจึงตามหลอกหลอนอยู่ หลอกหลอนสังคมไทยอยู่จนทุกวันนี้

Advertisement

“ผมคิดว่าภาวะลืมไม่ได้จำไม่ลงหรือภาวะเป็นบาดแผลที่ยังสดจะเปลี่ยนไป เมื่อเราสามารถยอมให้มีการอธิบาย 6 ตุลา อย่างที่เกิดความยุติธรรม อาจจะไม่ใช่กับทุกคน แต่อย่างน้อย สังคมรับได้ พอเข้าใจได้ ไม่ใช่หลบเลี่ยง ไม่ใช่ซุกไว้ใต้พรม ไม่ใช่บังคับให้คนเงียบ

“ประวัติศาสตร์หลายอย่าง ปริศนาของมันไม่เคยจบ เป็นร้อยพันปีก็ไม่เคยจบ แต่ขณะเดียวกัน ภาวะที่เป็นแผลสดๆ มันสามารถหยุดลงได้ ถ้าหากมีคำอธิบายที่สังคมนั้นรู้สึกพอใจ

“ความเงียบไม่ใช่สิ่งที่เขาพอใจ การยอมให้พูดแค่ว่าโหดร้ายเหลือเกิน อย่าฆ่ากันเลย แต่ห้ามพูดว่าใครและทำไม? มันได้พิสูจน์แล้วโดยเยาวชนรุ่นปัจจุบันนี้ว่า นั่นไม่ใช่ภาวะที่สังคมไทยควรจะพอใจ

“เราไม่เคยเรียนรู้ ไม่เคยบัญญัติว่าอะไรคือความยุติธรรม ไม่เคยกำหนดเป็นบรรทัดฐานว่าห้ามฆ่าแกงกันเพราะความคิดต่างกันนะ คนทำต้องถูกลงโทษ มันจึงเกิดอีกหลายครั้ง นี่ไง ผลของการที่บาดแผลมันยังสดอยู่ ผลของการที่ 6 ตุลา ยังไม่เคยเกิดความยุติธรรม

“ไม่ใช่ 6 ตุลาเท่านั้น จะพฤษภา 35 พฤษภา 53 กรือเซะ ตากใบ ความไม่ยุติธรรมในกรณีความขัดแย้งทางภาคใต้ กรณีเหล่านั้นตราบใดที่ไม่เกิดความยุติธรรม มันจะเป็นแผลสดๆ อยู่ตลอดไป จะกี่สิบปีก็เถอะ จนกว่าผู้เสียหายจากกรณีเหล่านั้นได้รับความยุติธรรม มีคำอธิบายให้สังคมพอใจได้ ว่าทำไมจึงเกิดขึ้น มีการลงโทษคนกระทำผิด

“ไม่ใช่เพราะผมกระหายเลือดหรืออยากให้มีการลงโทษ ผมต้องการให้สังคมบัญญัติกำหนดลงไปเป็นบรรทัดฐานว่าทำอย่างนี้ไม่ได้นะ ด้วยรูปธรรมว่าคนกระทำผิดต้องถูกลงโทษ

“ภาวะนั้นเท่านั้นถึงจะหยุดความเจ็บปวด การเป็นบาดแผล หรือลืมไม่ได้จำไม่ลง อีหลักอีเหลื่อ ของ 6 ตุลา อย่างทุกวันนี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image